รัฐเทแสนล้านอุ้มชาวนา ยืนประกันรายได้ สู้ราคาตลาด
สถานการณ์ราคาข้าวที่ตกต่ำจากความต้องการบริโภคข้าวที่ลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคซ้ำเติมราคาให้ตกต่ำ รัฐบาลยืนประกันราคาเท่าปีการผลิตก่อน ทำให้วงเงินที่ต้องใช้ในโครงการประกันรายได้ชาวนาพุ่งแตะ 1 แสนล้านบาท รัฐบาลแบ่งการอนุมัติเป็นงวด
ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรมากเกือบ 100 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 61.87 ล้านไร่ และนาปรัง 7.34 ล้านไร่ มีจำนวนครัวเรือนชาวนาเกลือ 5 ล้านครัวเรือน หากคำนวนครัวเรือนละ 5 คน ก็เท่ากับ ประชากร ชาวนา 25 ล้านคน หรือ หนึ่งใน สามของประชากรประเทศ
สถานการณ์ราคาข้าวที่กำลังตกต่ำอย่างหนักขณะนี้ทำให้ชาวนาไทยอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและไม่ต่างกับแผนการใช้จ่ายผ่านโครงการประกันรายได้ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากหลายปีและคาดว่าปีนี้ต้องใช้เม็ดเงินในโครงการมากกว่าแสนล้านบาทเพื่อดูแลชาวนาในประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการดูแลจากโครงการจำนำข้าวในวงเงินใกล้เคียงกัน
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ครม. (25 ต.ค.) เห็นชอบมาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิดประจำปีการผลิต 2564/2565 ได้แก่ ข้าว สำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเมื่อรวมทั้งมาตรการประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานของพืชทั้ง 3 ชนิด วงเงินรวมกันกว่า 1.406 แสนล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว 131,663 ล้านบาท ข้าวโพด 1,907.51 ล้านบาท และมันสำปะหลังวงเงินรวม 7,102.68 ล้านบาท
อ่านข่าว : ตรวจสอบเงินส่วนต่าง “ประกันรายได้เกษตรกร” มันสำปะหลัง งวดที่ 12 เช็คที่นี่!
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/2565 ครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 8.93 หมื่นล้านบาท เป็นค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันเป้าหมายกับราคาเกณฑ์การอ้างอิง 8.75 หมื่นล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายก่อน และค่าดำเนินการของ ธ.ก.ส.1,774.09 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาของ ครม.ครั้งนี้เห็นชอบอนุมัติวงเงิน 15% ก่อนของวงเงินประกันรายได้และวงเงินงบประมาณคู่ขนาน รวม 18,378 ล้านบาท เป็นเงินประกันรายได้ 13,604 และคู่ขนาน 4,774 ล้านบาท เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะมีการทยอยอนุมัติเงินเพิ่มเติมอีกเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ ครม.ได้มีการหารือกันในที่ประชุมถึงกรณีวงเงินประกันรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่ามาตรการนี้ใช้เงินมาก และติดข้อกฎหมายในปีต่อไปควรมีการเสนอเข้ามาเป็นการใช้งบประมาณประจำมากกว่า ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่อยากให้มีโครงการลักษณะนี้ทั้งจำนำและประกันต้องหาทางปรับเปลี่ยนรูปแบบ
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการที่ ครม.อนุมัติวงเงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงวดแรก 15% ของวงเงินทั้งหมดเนื่องจากเป็นการดำเนินงานตามข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ปี พ.ศ.2561 ที่กำหนดว่าการกำหนดอัตรายอดค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐบาลต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่างๆไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
“ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลไม่มีเงินหรือรัฐบาลถังแตกแต่อย่างไรส่วนการที่ต้องใช้เงินในการประกันรายได้ข้าวสูงกว่าปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ มีการแข่งขันราคากันสูง ขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวในประเทศลดลงจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เดินทางเข้ามา"
สำหรับมาตรการประกันรายได้ข้าวแต่ละชนิดจะจ่ายเงินส่วนต่าง ได้แก่
1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ 15,000 บาทต่อตัน จำนวนครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
3.ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนไม่เกิน 25 ตันและ
5.ข้าวเปลือกเหนียวราคาประกันรายได้ไม่เกิน 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
สำหรับมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวปี 2564/2565 วงเงินรวม 4.23 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วยมาตรการโครการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2564/2565 เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรเป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก
กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่าถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่า มียอดคำสั่งซื้อเริ่มกลับมาอย่างต่อเนื่องโดยจะเห็นได้จากสถิติกรมศุลกากรการส่งออกข้าวไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ส.ค. ขยายตัว 25.27% (yoy)โดยสถิติการขอใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศในเดือนก.ย.ที่มีปริมาณสูงถึง 877,555 ตัน ขยายตัว 124.87% และล่าสุด 1 – 18 ต.ค. ปริมาณ 380,234 ตัน เพิ่มขึ้น 47.11% (yoy) ตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค. 2564 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 3.18 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 58,685 ล้านบาท ดังนั้น คาดว่าในปีนี้ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าที่ปริมาณ 6 ล้านตัน