"สุชาติ" สั่งเคลียร์ค้างจ่ายค่าแรง รปภ.ศูนย์ราชการ นายจ้างจ่ายเพิ่ม 1.84 ล.
รมว.แรงงาน สั่งอธิบดี กสร. เคลียร์ปัญหาบริษัทรักษาความปลอดภัยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย 242 คน เพียงครึ่งเดียว ผลนายจ้างจ่ายเพิ่มแล้ว 1.84 ล้านบาท ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีลูกจ้างรักษาความปลอดภัย ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งเดียวนั้น เป็นลูกจ้างของบริษัท รักษาความปลอดภัย ที.เอส.จี.อินเตอร์การ์ด จำกัด ตั้งอยู่ ซอยสรงประภา 15 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กทม. มีลูกจ้าง จำนวน 242 คน
สาเหตุเนื่องมาจากลูกจ้างโดนหักเงินค่าจ้างโดยไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 6 ราย โดยค่าจ้างรายวันต้องจ่ายทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไป และลูกจ้างทุกคนได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งของค่าจ้างรายวันตลอดรอบการจ่ายค่าจ้าง เมื่อสอบถามกับบริษัทไม่ได้คำตอบ ทำให้ลูกจ้างไม่มาปฏิบัติงาน
รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยลูกจ้างกลุ่มนี้และกำชับมายังกระทรวงแรงงานให้ช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้รับรายงานกลับมาว่า บริษัททำสัญญารักษาความปลอดภัยกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณอาคาร a และ b เริ่มสัญญา ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และจะสิ้นสุดในปี 2565 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันจ่ายค่าจ้างนายจ้างจ่ายค่าจ้างเพียงครึ่งเดียว
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปพูดคุย นายจ้างได้จ่ายเงินส่วนที่ค้างจ่ายอีกจำนวน 1.84 ล้าน ให้กับลูกจ้างในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. รวมเป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 3.68 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว โดยนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างได้ปรับความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้มอบหมายให้นางเจริญพิศ เอกอุรุ ผู้ตรวจราชการกรม และพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ได้ออกหนังสือเชิญนายจ้าง เพื่อตรวจสอบเท็จจริง ในรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และกำชับให้นายจ้างดูแลลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย พร้อมย้ำเตือนไม่ให้ค้างจ่ายค่าจ้างอีกหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินคดีต่อไป