"โควิด-19" ปัตตานี สาหัส! ติดเชื้อพุ่ง 352 คน ปิดหมู่บ้านหลังผู้ป่วยปะปนอยู่

"โควิด-19" ปัตตานี สาหัส! ติดเชื้อพุ่ง 352 คน ปิดหมู่บ้านหลังผู้ป่วยปะปนอยู่

สถานการณ์ COVID-19 พื้นที่ จ.ปัตตานี ยังสาหัส พบยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง 352 คน เสียชีวิต 2 คน ทยอยปิดหมู่บ้านหลังมีผู้ป่วยปะปนอยู่ ขณะที่สารธารณสุขล่ม ผู้ป่วยรอ 5 วันกว่าจะเข้ารักษา

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยังมีผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่องโดยตัวเลขผู้ติดเชื้อ วันที่ 2 พ.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 352 ราย เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มอีก 2 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดติดเชื้อสะสม 38,811 ราย รักษาหาย 22,445 ราย และเสียชีวิตสะสม 378 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากหมู่บ้านในอำเภอต่างๆยังคงมีผู้ติดเชื้อปะปนกับคนปกติอยู่ สาเหตุดังกล่าวเป็นเพราะการจัดการของสาธารสุขที่ล่าช้า ประชาชนเป็นจำนวนมากต้องรอ 4-5 วัน ถึงจะเข้ากระบวนการรักษา และระหว่างรอก็มีประชาชนบางรายไม่กักตัว แต่กลับออกมาเดินเพ่นพ่านจนทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ติดเชื้อไปด้วย และแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง อีกทั้งผู้ติดเชื้อที่ต้องทำ home isolation(แยกกักที่บ้าน) ยังมีการแอบออกมาข้างนอกอีกด้วย เป็นเหตุให้หมู่บ้านในหลายอำเภอมีผู้ติดเชื้อเพิ่มไม่หยุด และจังหวัดต้องทยอยปิดหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีก 

โดยขณะนี้ สั่งปิดสถานที่เสี่ยง ไปแล้วทั้ง 11 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง อำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น อำเภอปะนาเระ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอมายอ อำเภอยะรัง และอำเภอกะพ้อ ทั้งนี้ยังคงมีอำเภอแม่ลานที่ยังไม่มีการปิดหมู่บ้านแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยังกำชับไปยังนายอำเภอทุกอำเภอให้มีการใช้ดุลยพินิจในการปิดหมู่บ้านเพิ่ม หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่หอประชุม อบต.ตะโละดือรามัน อำเภอกะพ้อ จ.ปัตตานี ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายเมษัณฑ์ โสภากัณฑ์ นายอำเภอกะพ้อ, ผอ.รพ.กะพ้อ, กำนัน, ผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่น ร่วมหารือในการแก้ปัญหาครั้งนี้ หลังพบว่าในอำเภอกะพ้อ จ.ปัตตานี เป็นอีก1อำเภอที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยมีการรับฟังระบบการปฎิบัติการในการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด19 เชิงรุก ด้วยการตรวจคัดกรองด้วย ATK และระบบการส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ไปยังโรงพยาบาล รวมทั้งแผนการฉีดวัคซีนเชิงรุกในหมู่บ้าน ซึ่งจะต้องได้รับวัคซีน 70 %