เปิดเงินรางวัลแจ้ง "เบาะแส" จับทุจริต "เลือกตั้ง อบต."
เปิดเงินรางวัลแจ้ง "เบาะแส" จับทุจริต "เลือกตั้ง อบต." พบซื้อสิทธิขายเสียงผิดหนัก "ผู้ให้-ผู้รับ" โทษสูงสุด 10 ปี
นับถอยหลัง การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) วันอาทิตย์ 28 พ.ย.2564 ภายหลังผ่านขั้นตอนเปิดรับผู้สมัครทั่วประเทศไปแล้วเมื่อเดือนต.ค. โดยมียอดผู้สมัครนายก อบต.อยู่ที่ 12,309 คน และผู้สมัครสมาชิ สภาอบต.อยู่ที่ 123,941 คน
การ "เลือกตั้ง อบต." ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความเข้มข้นสนามการเมืองท้องถิ่นขนาดเล็ก ที่มีงบประมาณแต่ละปีที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะจากข่าวการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการก่อสร้าง "เสาไฟ" ในแต่ละ อบต.จนเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสม ทำให้การ "เลือกตั้ง อบต." วันที่ 28 พ.ย.นี้ กำลังถูกจับตามองไปที่ความโปร่งใสในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ออกมาย้ำเตือนการหาเสียง "ผู้สมัครเลือกตั้ง" ให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมกับการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนช่วยเป็น "ตาสับปะรด" แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ขีดเส้นใต้ไปที่การซื้อสิทธิ-ขายเสียง เป็นการกระทำความผิดที่มีโทษหนักทั้ง "ผู้ให้-ผู้รับ" โดยมีโทษจำคุกอยู่ที่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมากถึง 20 ปี
การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในระบบเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้ "พระราชบัญญัติ(พรบ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562" ซึ่งส่วนหนึ่งมีเนื้อหาเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตาม "มาตรา 138" บัญญัติถึงกระบวนการสืบสวนไต่สวน และคุ้มครองพยานไว้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น
เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" ช่องทางจับทุจริต "เลือกตั้ง อบต."
การแจ้งเบาะแสปกป้องคุ้มครองพยานอย่างไร
นอกจากนี้ใน "ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง พ.ศ.2562" ได้ปกป้องคุ้มครองพยาน "เป็นความลับ" และคำนึงถึง "ความปลอดภัย" ของผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร ผู้ชี้เบาะแส เจ้าหน้าที่ และบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ให้ข้อมูลข่าวสารเป็นสำคัญ
ส่วน "ค่าใช้จ่าย" ที่จัดสรรสำหรับ "ผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร" ต้องจ่ายในอัตราไม่เกินข่าวละ 5,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาจากความสำคัญ ความชัดเจนของข้อมูลข่าวสาร ความเสี่ยงในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และอันตรายที่อาจเกิดกับบุคคลน้ัน โดยเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดได้ที่ สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัด สายด่วน กกต. "1444" กด 2 หรือเว็บไซต์โดยกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม ที่นี่
"เลือกตั้ง อบต." ส่องรายได้ 4 ปี กางบัญชีเงินเดือน "อบต." 5.3 พันแห่ง
เงินรางวัลแจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้งได้เท่าไหร่
ขณะที่ "เงื่อนไข" ที่ กกต.กำหนด "ผู้ชี้เบาะแส" ได้รับรางวัลนั้น จะมีต่อเมื่อข้อมูลหรือข้อเท็จจริงท่ีมาแจ้ง เป็นสาระสำคัญของการตรวจสอบ และก่อให้เกิดเป็นผลโดยตรง ดังนี้
1.กกต.มีคำสั่งให้มีการเลือกต้ังใหม่ หรือสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว
2.ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร หรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกต้ัง แล้วแต่กรณี
3.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกต้ังของ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
4.กกต.มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงประชามติใหม่
ขณะที่ตัวเลขเงินรางวัลการแจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้งนั้น "กกต." แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.ผู้สมัคร "นายก อบต." หากประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริต หาก กกต.มีคำสั่งให้มีการ "เลือกตั้งใหม่" ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และหากนำไปสู่ "ระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
หรือหากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำสั่งให้ "เลือกตั้งใหม่" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีคำสั่ง "เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ผู้แจ้งเบาแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
2.ผู้สมัคร "สมาชิกสภา อบต." หากประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริต หาก กกต.มีคำสั่งให้มีการ "เลือกตั้งใหม่" ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท หากมีคำสั่งให้ "ระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วราว" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
หรือหากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำสั่งให้มีการ "เลือกตั้งใหม่" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทและหากมีคำสั่ง "เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาท แต่ไม่เกิน 250,000 บาท
ทั้งหมดเป็นกระบวนการสอบสวน ไต่สวน แจ้งเบาะแส เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบการ "เลือกตั้งท้องถิ่น" ให้ยุติธรรม โดยเฉพาะ "ยกระดับ" การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้ท้องถิ่นคัดสรรผู้แทนที่เข้ามาทำหน้าที่อย่างโปร่งใสให้มากที่สุด ตลอดวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี.