กษ.เร่งจัดระเบียบประมงไทย สอดรับรับกฎเหล็กสหรัฐ ที่จะมีผลปี66
รองโฆษกฯ เผย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งจัดระเบียบประมงไทย สอดรับข้อกำหนดคุ้มครองสัตว์ทะเลของสหรัฐ ที่จะมีผลปี66 ยืนยันไม่เป็นอุปสรรคต่อส่งออก
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความพร้อมของประเทศไทยในการปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA ) MMPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินการให้สอดรับกับกฎหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าไทยสามารถปฏิบัติตามได้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ สหรัฐเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อันดับ 1 ของประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 3.99 หมื่นล้านบาท
ในเรื่องนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดระเบียบการทำประมง และแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือดูแลประมงพื้นบ้าน ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานด้านการประมงขององค์กรระหว่างประเทศ
โดยได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย MMPA ว่า ได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินการมาตลอด เชื่อมั่นว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งจะเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี ของข้อกำหนด MMPA ขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) สินค้าประมงไทยจะไม่ติดปัญหาในการส่งออกอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ระหว่างช่วงระยะของการผ่อนผัน กระทรวงเกษตรฯ ได้ติดตามการประเมินสถานภาพสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม วางระบบรวบรวมข้อมูลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง พัฒนากฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการลดการตายและการบาดเจ็บของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง เพื่อให้สอดรับกับกฎหมาย MMPA
อีกทั้งมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ และจัดทำรายงานข้อมูลต่อสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเมื่อปี 2563 คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาชน และมีการรายงานข้อมูลเพื่อเสนอต่อสหรัฐฯด้วย
“นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย รวมถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวประมงและผู้ประกอบการ อีกทั้งการดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ จะต้องทำควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบต่อประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาครอบคลุมประเด็นที่รอบด้าน เป็นระบบ ตลอดจนจะได้สร้างความเชื่อมั่นต่ออาหารทะเลไทยเพื่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ไปพร้อมกับการทำประมงที่ยั่งยืน” นางสาวรัชดากล่าว