มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ 55 จังหวัด เตรียมรับมือภัยหนาว
มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ 55 จังหวัด เตรียมรับมือภัยหนาว โดยบริเวณยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขา จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง บูรณาการช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่ซ้ำซ้อน
วันนี้ (3 พ.ย. 64) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 64 และจากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พบว่า
ช่วงเวลาที่อากาศจะหนาวเย็นที่สุด จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 64 ถึงปลายเดือนมกราคม 65 ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่จังหวัดที่มีโอกาสเกิดอากาศหนาว รวม 55 จังหวัด แบ่งเป็น
- ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา น่าน พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แพร่ กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ
- ภาคกลาง 14 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา
- ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี และจังหวัดสระแก้ว โดยบริเวณยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขา จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากอากาศหนาวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้เตรียมความพร้อม
โดยตั้งคณะทำงานติดตามสภาวะอากาศ คาดหมายพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดสถานการณ์ การแจ้งเตือน และการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยจากอากาศหนาว พร้อมทั้งทบทวน ปรับปรุงแผนเผชิญเหตุ สำรวจข้อมูลบัญชีผู้ประสบภัยหนาวกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ เด็กไร้ผู้อุปการะ คนพิการ ทุพพลภาพ สตรีมีครรภ์ ตลอดจนผู้ที่มีรายได้น้อย และให้เร่งซักซ้อมแนวทางตามแผนเผชิญเหตุ บูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดเตรียมเครื่องกันหนาว
และสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาว เช่น งดดื่มเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายหนาว เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) การไม่ผิงไฟในที่อับอากาศ เพราะจะทำให้หมดสติและขาดอากาศหายใจ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ พร้อมทั้งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันโรคติดต่อในช่วงหนาว และต้องระมัดระวังการเกิดเพลิงไหม้จากการลืมดับไฟที่จุดเพื่อเพิ่มความอบอุ่นของร่างกาย ด้วย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงฤดูหนาวจะมีสภาพอากาศแห้ง และนักท่องเที่ยวก็นิยมเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็น จึงได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำหนดมาตรการการป้องกันการเกิดอัคคีภัย เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ รถบรรทุกน้ำ อุปกรณ์ดับเพลิงให้มีความพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที
พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา ในการเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ชุมชน ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว และรณรงค์ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรใช้วิธีการไถกลบ แทนการเผาตอซั่งและวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดมลพิษในอากาศ และให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณทางแยกและจุดเสี่ยง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีประชาชนเดินทางไปจำนวนมาก ก็ให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ เตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาและรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงในพื้นที่ ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ รถ เรือ และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดภัย และต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และนักท่องเที่ยวในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
"เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยจากอากาศหนาวขึ้นในพื้นที่ ให้รีบดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุจังหวัด เข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยจากอากาศหนาว ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยให้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนเครื่องกันหนาวและประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นสำคัญ และให้ประสานส่วนราชการ องค์กรสาธารณกุศล และภาคเอกชน บูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง และไม่ซ้ำซ้อน และหากประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 และสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง " พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย