ราคาน้ำมันสั่นคลอนเศรษฐกิจ ดุลบัญชีฯจ่าย ไม่เท่าเป้ารายได้

ราคาน้ำมันสั่นคลอนเศรษฐกิจ  ดุลบัญชีฯจ่าย ไม่เท่าเป้ารายได้

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องไม่เพียงส่งผลกระทบกับคนใช้รถใช้ถนนเท่านั้นแต่ยังส่งผล กระทบต่อเนื่องเกี่ยวกับค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชน

นอกจากนั้นราคาน้ำมันที่สูงจะกระทบกับเศรษฐกิจในระดับมหาภาคเนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันในปริมาณมากจนอาจจะกระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน

มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำมัน ใน ตลาดโลก จะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงระดับใกล้กับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับราคาปัจจุบันที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้นยังมีความเป็นไปได้ เนื่องจากท่าทีของกลุ่มประเทศ โอเปกพลัส ยังไม่ยอมเพิ่มกำลังการผลิตจากในระดับปัจจุบันที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวันสวนทางกับปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมัน ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงจะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งระดับครัวเรือนคือกระทบกับรายจ่ายของประชาชนทั่วไป และระดับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยทำให้มีความเสี่ยงในการ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากการที่ต้องนำเข้าน้ำมันในราคาสูง 

อ่านข่าว : เทียบกันชัดๆ ข้อแตกต่าง “รถEV vs รถน้ำมัน”

ราคาน้ำมันสั่นคลอนเศรษฐกิจ  ดุลบัญชีฯจ่าย ไม่เท่าเป้ารายได้ โดยในระดับประชาชนทั่วไปจะได้รับผลกระทบจาก ภาวะเงินเฟ้อ ที่ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าและบริการบวกเอาต้นทุนของ ราคาน้ำมัน เข้ามาในสินค้าและบริการด้วย เมื่อรวมกับผลกระทบจาก โควิด-19 ที่มีคนตกงานและขาดรายได้เป็นจำนวนมากซึ่งทำให้คนไม่มีกำลังซื้อ เกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “Stagflation" คือภาวะเงินเฟ้อสูง การว่างงานสูง และเศรษฐกิจคงที่หรือถดถอยซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อราว 40 ปีก่อน ในขณะนั้นเกิดคล้ายกันคือ วิกฤติราคาน้ำมันดิบสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมากในขณะที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้รัฐดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างยากลำบากเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ในส่วนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างเศรษฐกิจคือความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งกระทบกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ดุลการค้าจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี แต่เราขาดดุลบริการเนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้หาก ราคาน้ำมันตลาดโลก ยังยืนอยู่ในระดับสูงหรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะยิ่งกระทบดุลการค้าของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเราเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน จากปริมาณการใช้น้ำมันประมาณวันละ 1.2 ล้านบาร์เรล ไทยผลิตน้ำมันได้เองประมาณ 1.6 แสนบาร์เรลเท่านั้น ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณ 8.6 แสนบาร์เรลต่อวัน

การเพิ่มขึ้นของ ราคาน้ำมัน ยิ่งทำให้ต้องนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระราคาน้ำมันมากขึ้น การขาดดุลการค้าจึงสามารถเกิดขึ้นได้ และกระทบกับดุลบัญชีเดินสะพัดโดยรวมด้วยเช่นกัน ซึ่งทางแก้ปัญหาคือต้องดึงการลงทุนทางตรง (FDI) จากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาในไทยและให้เกิดการลงทุนจริงเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยในช่วงที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว

“มีการเปรียบเทียบว่าเราขายสินค้าเกษตรทั้งปี ได้เงินตราต่างประเทศมาเอาไปซื้อน้ำมันได้พอใช้แค่ 4 เดือนเท่านั้น หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขาดดุลบัญชีการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะตามมาส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงซึ่งจะกระทบกับภาคอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบจากภายนอกประเทศ”

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าจากระดับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงจะต้องจับตานโยบายของรัฐบาล หรือพรรคการเมืองอื่นๆที่จะนำเสนอนโยบายการแทรกแซงราคาพลังงาน ซึ่งจะเป็นการบิดเบือนกลไกราคา หรืออาจเสนอลดราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมันซึ่งจะกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐได้ 

“การแทรกแซงราคาจะส่งผลกระทบในระยะยาว รัฐบาลต้องส่งเสริมการประหยัดการใช้น้ำมัน หรือส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงไม่ควรแทรกแซงราคา”

ทั้งนี้ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (EIA) คาดการณ์ว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จะอยู่ที่ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ในปี 2565 คาดว่าระดับราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล