“ปชป.” ชักธงสู้! ชูประโยชน์โครงการ “ประกันรายได้” ช่วยชาวนา ตอก “สันติ”

“ปชป.” ชักธงสู้! ชูประโยชน์โครงการ “ประกันรายได้” ช่วยชาวนา ตอก “สันติ”

ถึงคิวลูกพรรค “ปชป.” ชักธงสู้! ชูประโยชน์โครงการ “ประกันรายได้” ช่วยเหลือเกษตรกร ชาวนาปลื้ม “ราเมศ” ลั่นเป็นนโยบายพรรค “มัลลิกา” เผยชาวนาขอบคุณ “จุรินทร์” เงินถึงมือตรง เชียร์เดินหน้าปี 3

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการประกันรายได้ว่าทำให้เกษตรกรอ่อนแอว่า โครงการประกันรายได้ เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่คิดและทำเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้มแข็งอยู่ได้โดยมีหลักประกันในเรื่องรายได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านราคาผลผลิตที่มีผลโดยตรงกับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร เมื่อมีปัญหาเรื่องราคาข้าว แน่นอนว่าพี่น้องชาวนาก็จะได้รับส่วนต่างรายได้ที่ขาดหายไป

นายราเมศ กล่าวอีกว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกร มีเกษตรกรเกือบ 8 ล้านครัวเรือนทั้งประเทศ ได้รับประโยชน์ มีความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งขึ้น เงินส่วนต่าง เป็นจำนวนเงินที่ไปช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก นโยบายประกันรายได้คือคำสัญญาของสถาบันทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เมื่อหาเสียงไว้แล้ว ก็ทำตามคำสัญญาที่หาเสียงไว้ และพรรคก็ได้ผลักดันจนเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นทำงานร่วมกันในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร

“ปชป.” ชักธงสู้! ชูประโยชน์โครงการ “ประกันรายได้” ช่วยชาวนา ตอก “สันติ”

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ที่นายสันติ ได้กล่าวหาว่า นโยบายประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ก็ไม่เป็นความจริง เกษตรกรอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ระบบการเกษตรได้รับการพัฒนาควบคู่กันมาตลอด การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร การส่งเสริมเรื่องคุณภาพ การส่งเสริมการส่งออก การส่งเสริมเทคโนโลยี  การพัฒนาพันธุ์ข้าว ทุกอย่างมีการคิดอย่างรอบด้านครบถ้วนทุกอย่างควบคู่กันไปทั้งหมด นี่คือการทำงานในเชิงรุกทุกเรื่องเพื่อเกษตรกร ผลสำเร็จคือความเป็นอยู่ของเกษตรกรเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่อ่อนแออย่างที่นายสันติพูด ที่น่ากังวลคือความคิดของนักการเมืองที่อ่อนแอลง การทำงานไม่ใช่คิดว่าใครจะได้หน้าหรือเอาหน้า แต่เมื่อมีหน้าที่ก็ต้องทำประโยชน์ให้กับประชาชนให้สมบูรณ์ที่สุด การตระหนักในหน้าที่ของตนสำคัญที่สุดไม่เช่นนั้นเป็นเรื่องที่น่าตำหนิที่สุด 

“เวลานี้มีเสียงสะท้อนมายังพรรคตลอดมา คือขอบคุณพรรคและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ใส่ใจพี่น้องเกษตรกรตลอดมา โดยเฉพาะการประกันรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ได้” นายราเมศ กล่าว

วันเดียวกัน นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ให้ นโยบายกรมการค้าภายใน เกี่ยวกับการประสานงานกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างต่อเนื่องเหมือนที่เป็นมากับโครงการประกันรายได้ปี 1 และ 2 ขณะนี้การเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 3 ในพืช 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน

“อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จช่วยเกษตรกรได้กว่า 7.8 ล้านครัวเรือน ยังไม่นับการบริหารจัดการเกษตรกรสวนผลไม้ที่ทำให้ราคาดีด้วยการส่งออกแก้ปัญหาด้านการตลาดและพืชชนิดอื่นที่เกิดจากนโยบายยกระดับราคาร่วมงานกันระหว่างกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ การเดินหน้าปีที่ 3 นี้ พืชทุกชนิดราคาดีสูงกว่ารายได้ที่ประกันไว้ทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินงบประมาณสำหรับการชดเชยมีเฉพาะข้าวเท่านั้นที่เริ่มต้นฤดูกาลนี้สถานการณ์ราคาไม่ค่อยดีด้วยหลายปัจจัยขนาดนี้รัฐจึงต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรโดยตรงตามนโยบาย ที่นายจุรินทร์ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาก่อนการเข้าร่วมรัฐบาล” นางมัลลิกา กล่าว

“ปชป.” ชักธงสู้! ชูประโยชน์โครงการ “ประกันรายได้” ช่วยชาวนา ตอก “สันติ”

นางมัลลิกา กล่าวอีกว่า บรรยากาศการกดเงินเบิกเงินส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรตั้งแต่เมื่อวานนี้ ชาวนามีความสุขพร้อมขอบคุณรัฐบาล และนายจุรินทร์ ที่เดินหน้านโยบายอย่างเต็มที่ และได้รับรายงานว่าการโอนเงินชดเชยส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 64/65 (เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564) จ่ายกว่า 1.12 หมื่นล้าน เกษตรกรได้ประโยชน์ 5.3 แสนครัวเรือน เป็นเกษตรกรชุดแรกแจ้งวันเกี่ยวข้าวไว้เป็นงวดที่ 1 สำหรับชาวนาชุดที่เหลือซึ่งทยอยเก็บเกี่ยวข้าวโดยแจ้งวันเก็บเกี่ยวไว้ตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิตแล้วนั้นขณะนี้ สำหรับงวด 2-4 คณะอนุกรรมการราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงได้ประกาศราคาอ้างอิงไว้แล้ว เมื่อมีส่วนต่างก็จะทยอยตามไป 

นางมัลลิกา กล่าวด้วยว่า เมื่อวานนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายจุรินทร์ได้อธิบายเรื่องการขอให้เงินงบประมาณเพื่อชดเชยให้กับชาวนา ตามที่เคยดูแลมา 2 ปี ข้อมูลในการพิจารณาทั้งหมดได้ผ่านคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ซึ่งมีนายกเป็นประธานมาแล้ว ขณะนี้ติดเพียงว่าสำนักงบประมาณกับกระทรวงการคลังมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับงบประมาณที่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำให้ผ่านมาตรา 28 เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง ตรงจุดนี้จึงเป็นหน้าที่ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังต้องหารือกัน