ย้อน Timeline 2 ปี 7 เดือน 12 วัน ปิดดีลร่วมทุน "แหลมฉบังเฟส 3"
กทท.ปิดจ๊อบร่วมทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หลังดันยาวนาน 2 ปี 7 เดือน 12 วัน เดินหน้าลงนามกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ภายใน พ.ย.นี้
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F โดยระบุว่า ปัจจุบันร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงถือว่าขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จ หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนลงนามสัญญา ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือน ธ.ค.2564
“โครงการแหลมฉบัง 3 ถือเป็นโครงการในอีอีซีฟาสต์แทร็กที่ล่าช้าที่สุด หากเทียบกับโครงการอื่นอย่างรถไฟความเร็วสูง เมืองการบินอู่ตะเภา และท่าเรือมาบตาพุด เพราะโครงการนี้เสียเวลากับการสู้คดีกรณีเอกชนฟ้องร้องถึงกระบวนการคัดเลือกไปถึง 1 ปี รวมระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เริ่มเปิดประกวดราคาเป็นเวลากว่า 2 ปี 7 เดือน 12 วัน”
โดยตลอด 2 ปี 7 เดือน 12 วัน มีไทม์ไลน์สำคัญ ดังนี้
14 ม.ค. 2562
- เปิดรับข้อเสนอเอกชนในการประกวดราคาครั้งที่ 1 แต่ยกเลิกประมูลเมื่อบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเพราะไม่ยื่นหลักประกันซอง
25 – 27 ม.ค.2562
- เปิดขายซองเอกสารข้อเสนอโครงการ ในการประกวดราคาครั้งที่ 2 มีผู้ซื้อซองจำนวน 35 ราย
29 มี.ค. 2562
- เปิดรับข้อเสนอในการประกวดราคาครั้งที่ 2 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม ซึ่งไม่ผ่านการประเมินด้านคุณสมบัติ 1 กลุ่มบริษัท
23 เม.ย.2562
- กทท.มีหนังสือแจ้งกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2
24 เม.ย.2562
- กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพียื่นอุทธรณ์คำสั่งการพิจารณาเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสาร
3 ก.ย.2562
- กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพียื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่ง
27 ก.ย.2562
- ศาลปกครองกลางพิพากษาคืนสิทธิ์การประมูลท่าเรือแหลมฉบับเฟส 3 แก่กลุ่มเอ็นซีพี
23 ธ.ค. 2562
- ศาลปกครองสูงสุดได้มีหนังสือและคำสั่งศาลสั่งเพิกถอนเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลปกครองกลาง
16 ม.ค.2563
- ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี
13 มี.ค.2563
- ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคำฟ้องของกลุ่มเอ็นซีพี
18 ธ.ค. 2563
- ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2563 รายงานผลการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC แต่ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับยังต่ำกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
7 เม.ย.2564
- คณะรัฐมนตรีอนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับตามที่ สกพอ.เสนอ
20 เม.ย. 2564
- คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ผ่านการประเมินซองที่ 4 และเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 5 ซองข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ
4 ต.ค.2564
- คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
9 พ.ย.2564
- คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวถึงกระบวนการดำเนินงานหลังจาก ครม. เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยระบุว่า หลังจากนี้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จะเป็นผู้ประสานการลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนาม
สำหรับวันลงนามสัญญานั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จะต้องชำระเงินให้กับ กทท.ในวงเงิน 120 ล้านบาท เป็นวงเงินค่าดำเนินงาน รวมทั้งต้องวางหลักประกันในมูลค่ารวม 4 พันล้านบาท ส่วนผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่เอกชนเสนอมานั้น กทท.ยืนยันว่าเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อประเทศชาติ โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท
นอกจากนี้เอกชนต้องจ่ายค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ ที.อี.ยู. และต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาทต่อไร่ต่อปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ โดยตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 35 ปี กทท.ประเมินว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากถึง 87,400 ล้านบาท เฉลี่ยผลประโยชน์ตอบแทนที่เอกชนจะต้องจ่ายต่อปีอยู่ที่ราว 2,500 ล้านบาท
“สัญญาสัมปทานนี้จะเริ่มนับก็ต่อเมื่อการท่าเรือฯ ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มเข้าบริหารกิจการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกหนังสือดังกล่าวภายในปี 2566 เนื่องจากต้องรอให้โครงสร้างพื้นฐานที่การท่าเรือฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้วเสร็จ หลังจากนั้นเอกชนจะมีระยะเวลา 2 ปี ในการเริ่มก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และติดตั้งระบบเพื่อบริหารจัดการ ก่อนจะเปิดให้บริการในปี 2568”
ส่วนการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาที่จะได้รับตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี ในมูลค่า 87,400 ล้านบาท เอกชนจะเริ่มจ่ายเมื่อท่าเรือแหลมฉบัง 3 เริ่มเปิดให้บริการในปี 2568 โดย กทท.ได้กำหนดให้เอกชนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในปีแรกประมาณ 70 – 80 ล้านบาท เนื่องจากปีแรกทีเปิดให้บริการคาดการณ์ว่าท่าเรือแหลมฉบัง 3 อาจยังสร้างรายได้ไม่สูงนัก หลังจากนั้นจะเก็บผลประโยชน์ตอบแทนเฉลี่ย 2,500 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ในภาพรวมของสัญญาร่วมลงทุน จึงจะเห็นว่าภายใต้สัญญาสัมปทาน 35 ปี ที่เริ่มนับสัญญาในปี 2566 แต่เอกชนจะเริ่มจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในปี 2568 เนื่องจาก กทท.ยกเว้นการจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทน 2 ปีแรกที่อยู่ในขั้นตอนก่อสร้าง รวมเอกชนต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามสัมปทานเป็นเวลา 33 ปี ส่วนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบต่อรายได้ของโครงการ เป็นความเสี่ยงที่เอกชนต้องรับ เนื่องจากตามสัญญากำหนดให้เอกชนจ่ายรายได้คงที่รายปี
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตามสัญญามีการกำหนดจัดเก็บรายได้คงที่รายปี ซึ่งเป็นข้อเสนอของเอกชนอย่างชัดเจน เฉลี่ย 2,500 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากเกิดปัจจัยภายนอกกระทบต่อการบริหารท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นความเสี่ยงที่เอกชนต้องบริหารจัดการ นอกจากนี้ตามสัญญายังมีข้อเสนอที่เอกชนจะจ่าย ค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ ที.อี.ยู. ทำให้โครงการร่วมลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นี้เป็นโครงการที่รัฐได้ประโยชน์ดีที่สุด
ขณะที่ความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของ กทท. แบ่งออกเป็น 4 โครงการ มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1.ก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท โดยปัจจุบันได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา คาดแล้วเสร็จ 2566
2.การก่อสร้างอาคาร ท่าเรือเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณสุข มูลค่า 6,502 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะสามารถปะกวดราคาภายในปีนี้ เพื่อเร่งรัดให้ทยอยแล้วเสร็จรองรับการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในปี 2566
3.สร้างระบบทางรถไฟ จะทยอยดำเนินการหลังจากนี้
4.ลงทุนเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ ตลอดจนหาเครื่องมือระบบกึ่งอัตโนมัติให้บริการ จะทยอยดำเนินการหลังจากนี้
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตามแผนพัฒนาจะมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น ภาครัฐลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในส่วนของงานโครงสร้างพื้นฐานที่ระบไว้ข้างต้น ขณะที่เอกชนลงทุนประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1.ลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 3หมื่นล้านบาท ที่ปัจจุบันได้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ร่วมลงทุน 2.ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และ 3.ท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5 พันล้านบาท จะเป็นแผนลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2573
ขณะที่ผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2564 กทท.มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ณ ท่าเรือกรุงเทพ 1.4 ล้าน ที.อี.ยู.ใกล้เคียงปีก่อน ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง มีปริมาณรวม 8.42 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 10% และปริมาณเรือเทียบท่ารวม 11,041 เที่ยว ลดลง 0.46% โดย กทท. มีกำไรสุทธิในภาพรวมประมาณ 6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนในปี 2565 เบื้องต้นประเมินว่าจะมีรายได้ 1.59 หมื่นล้านบาท และเพิ่มต่อเนื่องในปี 2566 คาดรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท