มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วปท. เตรียมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน-ฝุ่นPM2.5
มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เตรียมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เร่งสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน
วันนี้ (11 พ.ย. 64) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายฤดูหนาวของทุกปี จะเกิดสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ มีสาเหตุหลักทั้งจากธรรมชาติ และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง ไฟป่า โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และหมอกควันจากต่างประเทศ รวมถึงสภาพทางอุตุนิยมวิทยา และสภาพภูมิประเทศในบางพื้นที่ของไทย ในช่วงที่ลมสงบ จะทำให้ระดับเพดานการลอยตัวและกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นบางช่วงเวลาในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ จากสถิติพบว่า ในปี 2564 พบว่าในพื้นที่ภาคเหนือ มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน รวม 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในส่วนของการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) พบว่าเกิดจุดความร้อน 101,869 จุด มีจุดความร้อนสะสมรวมสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 11,945 จุด เชียงใหม่ 8,066 จุด และจังหวัดตาก 7,489 จุด
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี 64 – 65 ให้เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตนได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตั้งคณะทำงานเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่
ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทิศทางลม การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) พร้อมทั้งทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุ และปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยง ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง การแบ่งพื้นที่รับผิดชอบถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ให้เป็นปัจจุบันและชัดเจน บูรณาการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งยานพาหนะ การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน
พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจและมีส่วนร่วมตามมาตรการภาครัฐ และต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนอาสาสมัครที่เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐด้วย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ ใช้กลไกตามกฎหมาย อำนวยการ สั่งการ บูรณาการหน่วยงานฝ่ายทหาร พลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา ที่มีทักษะความชำนาญ เป็นชุดปฏิบัติการ พร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าแก้ไขปัญหาโดยทันที
โดยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ให้ประสานหน่วยงานที่มีอากาศยาน เช่น เฮลิคอปเตอร์ โดรน สนับสนุนการปฏิบัติโดยเร็ว พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าดูแลประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดพื้นที่ และระบบบริการประชาชนในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่น ให้มีความเหมาะสมตามแนวทาง และมาตรการป้องกันควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เร่งสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจสถานการณ์ และตระหนักถึงผลกระทบจากการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงบทลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นสถานการณ์ไฟป่า สามารถแจ้งสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 หรือสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
“หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ และส่งผลให้ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วน ลด ละ เลิก การเผาป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ภาคก่อสร้างปฏิบัติตามกฎหมาย ภาคอุตสาหกรรมตรวจสอบและติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศ และคนใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ช่วยกันตรวจสอบสภาพรถ เพื่อไม่ให้ปล่อยควันเสียที่เผาไหม้ไม่หมด เพียงเท่านี้ เราก็จะได้มีส่วนร่วมในการยุติปัญหาสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีมลพิษในอากาศ และสุขภาพร่างกายก็จะดี อย่างยั่งยืน”