"สาทิตย์" ห่วง "ร่างรธน.ปชช." ทำลายดุลยภาพการตรวจสอบ

"สาทิตย์" ห่วง "ร่างรธน.ปชช." ทำลายดุลยภาพการตรวจสอบ

ส.ส.ประชาธิปัตย์ ชี้ผู้ตรวจการ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำลายหลักการดุลยภาพ-การตรวจสอบ ขออย่าใช้อคติทำเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะกระทบต่อดุลยภาพของอำนาจ

          เมื่อเวลา 18.10 น. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดยประชาชน 1.35 แสนรายชื่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เพิ่มอำนาจให้สภาฯ ตนกังวลว่าคือการขยายอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎร ที่กระทบต่อดุลอำนาจของ 3องค์อำนาจอธิปไตย โดยกลไกที่ออกแบบ  คือ การตั้งผู้ตรวจการกองทัพ, ผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ และ ผู้ตรวจการองค์กรอิสระอาจกระทบต่อดุลยภาพการถ่วงดุล โดยเฉพาะการออกแบบให้ส.ส. เป็นผู้ตรวจการ และให้สิทธิ์เข้าไปเป็นสมาชิกสภากลาโหมได้โดยตำแหน่ง รวมถึงให้ส.ส. เป็นผู้ตรวจศาล และให้สิทธิแสดงความเห็นต่อการบริหารของศาล 

 

 

          “ตำแหน่งที่ปรึกษาไม่มีอะไร ซื้อกัน 5หมื่น ผมกังวลว่าไม่มีระบบตรวจสอบระบบผู้ตรวจการให้เห็น รวมถึงผู้ตรวจการขององค์กรอิสระ และศาล ยังมีสิทธิตรวจสอบคุณภาพ และประเมินคำวินิจฉัยของศาล ถือว่าน่ากังวลว่า การขยายอำนาจส.ส. กระทบดุลยภาพหรือไม่ นอกจากนั้นยังให้ ส.ส. เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ที่ขยายอำนาจส.ส.เกินขอบเขต อาจทำให้มีปัญหาได้” นายสาทิตย์ กล่าว

          นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่าการรื้อองค์กรอิสระตามเนื้อหา ตนกังวลอย่างมาก เพราะให้สภาฯ เป็นผู้เลือกกรรมการองค์กรอิสระโดยมีจำนวนเป็นเสียงข้างมาก ที่ผ่านมาการเกิดองค์กรอิสระเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถตรวจสอบได้ และกลไกของสภาฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่กรณีแก้ไขให้ส.ส. หรือคนของพรรคการเมืองคุมกติกาการเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นได้ ส่วนการถอดถอนองค์กรอิสระที่ให้เป็นของสภาฯ อย่าลืมว่าเคยมีกรณีใช้กลไกดังกล่าวกำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง เหมือนที่ผู้เสนอร่างวิจารณ์บางองค์กร

 

          นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ส่วนแผนปฏิรูปประเทศ เป็น 1 ในข้อเสนอของร่างแก้ไขที่ตรงกับความคิดตน เพราะขาดความยืดหยุ่นจริง ส่วนประเด็นการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร ต้องมองย้อนไปไกลกว่า 7 ปีที่ผ่านมา เพราะมีเหตุอื่นที่ไม่ใช่เพราะคนทำรัฐประหารอยากทำ การลบล้างผลพวงรัฐประหารต้องพิจารณาความเป็นไปได้ หากมองว่าต้องเป็นกฎหมายจารีต ต้องตั้งคำว่ามีสถานะบังคับหรือไม่ ทั้ง กรณีให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิเสธการกระทำของผู้บังคับบัญชา


          “หากยกเหตุการณ์แค่ช่วง 6-7 ปี และเอาเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดความขัดแย้ง มาตัดสิน อยู่ต่อไปจนเปลี่นยแปลงอีก ต้องคิดให้รอบคอบ ผมกังวล่วาหากร่างรัฐธรรมนูญขึ้นต้นจากอคติ ทั้งรื้อ ไล่ จะบดบังการออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจดุลยภาพ ผมไม่สบายใจที่บอกว่ารับไปเถอะ เพราะกลัวว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ผมรักชาติบ้านเมืองเหมือนทุกคน กังวลความรุนแรง แต่รัฐสภาตัวแทนปวงชนชาวไทยต้องเป็นตัวแทนทุกคน ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต้องตัดความรู้สึกออกไป การตัดสินใจลงมติ ผมมองว่าอย่าคาดหมายล่วงหน้า เพราะการลงมติเป็นเอกสิทธิ์” นายสาทิตย์ อภิปราย.