"ชวน" ชี้ "ยึดอำนาจ" คืออุปสรรคบ้านเมือง แนะสังคมปัจจุบันต้องเคารพกฎหมาย
“ชวน” มองการเมือง ผ่านประสบการณ์ 52 ปี ชี้ ยึดอำนาจคืออุปสรรคบ้านเมือง ย้ำการบริหารบ้านเมืองต้องยึดหลักธรรมาภิบาล-เคารพกฎหมาย-ไม่เกรงใจอำนาจมิชอบ
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษในการปฐมนิเทศหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง (วทน.) รุ่นที่ 1 ของสภาทนายความ หัวข้อ “กฎหมาย กับนักการเมือง” ตอนหนึ่งว่า ตนเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2512 ไม่เคยแพ้การเลือกตั้ง และเป็น 1 ใน ส.ส.ในอดีตที่ยังคงอยู่ในการเมือง ดังนั้นตนจึงเป็นประจักษ์พยานได้ว่า 52 ปีที่ผ่านมา การเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างไร อุปสรรคบ้านเมืองของเราในอดีตคือ การยึดอำนาจ เพราะสมัยนั้นทำได้ง่าย และบ่อย ทำให้การยึดอำนาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเติบโตของประชาธิปไตย จนวันหนึ่งประชาชนเริ่มมีความหวงแหนในระบบประชาธิปไตย และเกิดรัฐธรรมนูญหลายฉบับ จนมีรัฐธรรมนูญที่ถือว่าดีที่สุดคือ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่สุดท้ายก็ยังมีการยึดอำนาจเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยต้นเหตุไม่ได้เกิดมาจากทหาร แต่เกิดมาจากผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต ดังนั้นแม้กฎหมายจะดี แต่หากผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจเป็นคนไม่ดี สุดท้ายก็จะเกิดปัญหา
นายชวน กล่าวต่ออีกว่า ตนคาดหวังว่าผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้จะต้องไม่ติดคุกเมื่อพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ โดยศึกษาตัวอย่างจากข้าราชการระดับสูงตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ที่ต้องมาติดคุกหลังพ้นตำแหน่ง และเมื่อทุกคนได้ดูตัวอย่างต่างๆ แล้วจะรู้สึกสงสัยว่าทำไมคนเหล่านั้นต้องมาติดคุกทั้งที่เป็นคนดี แต่โดนคดีทุจริตต่อหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 เนื่องจากเกรงใจผู้ที่ให้ผลประโยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้นการบริหารนอกจากยึดหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อแล้ว ต้องเพิ่มเรื่องความไม่เกรงใจ และการเคารพกฎหมายบ้านเมือง
"ผมมีรุ่นน้องตนจบกฎหมายธรรมศาสตร์ มียศเป็นถึงพลตำรวจเอก แต่ต้องติดคุก ซึ่งคดีเหล่านี้เป็นคดีที่จบไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพื่อเอาไว้เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะต้องนำเอาคดีที่ปรากฎในศาลรัฐธรรมนูญมาเล่าให้ทุกคนฟัง ว่าแต่ละคดีมีที่ไปที่มาอย่างไร เพราะตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ตนไม่เคยคิดว่าจะมีคนที่เป็นถึงระดับรัฐมนตรีต้องติดคุกมากขนาดนี้ อย่างเช่น คดีของนายประชา มาลีนนท์ คดีทุจริตรถ-เรือดับเพลิง เป็นคดี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นถึงนายแพทย์ แต่ก็ต้องมาติดคุก ซึ่งขณะนี้คดีก็จบแล้วและก็พ้นโทษมาแล้ว อีกคดี คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ซึ่งส่วนตัวตนรู้จักครอบครัวนายบุญทรง และส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่านายบุญทรงจะเป็นคนทุจริตคดโกง แต่สุดท้ายก็ต้องทำตามคำสั่งของนายของผู้มีอำนาจ และสุดท้ายคนเป็นนายก็หนีไปได้" นายชวน กล่าว
นายชวน ย้ำด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมถือว่ามีความสำคัญ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้ว่า สังคมไทยนั้นต้องการนักกฎหมายที่ดีแท้ เพราะกฎหมายล้วนดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการคือ ผู้ใช้กฎหมายที่ดี ตนจึงคิดว่าในยุคสมัยนี้ที่สังคมอยู่ในความหลากหลาย ต้องยึดหลักกฎหมาย ตัดสินตามสิ่งที่ถูกต้อง.
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์