ห้ามใช้ "แรงงานต่างด้าว" ผิดกฎหมาย ชี้หลัง 30 พ.ย.นี้ ตรวจเจอ จับจริง!
ขีดเส้นตายห้ามใช้ "แรงงานต่างด้าว" ผิดกฎหมาย ชี้หลัง 30 พ.ย.นี้ ตรวจเจอ จับจริง ย้ำมีโทษทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หลังดำเนินการตามมติครม.
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มอบหมายกระทรวงแรงงานบริหารจัดการ "แรงงานต่างด้าว" 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ขาดแคลนแรงงาน
พร้อมกับควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมติครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว เป็นระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พ.ย. 64 เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ดำเนินการเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย และได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี
“ภายหลังจาก 30 พ.ย. 64 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งมีทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ จะตรวจสอบ ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายฯอย่างจริงจัง
หากตรวจพบการกระทำผิดกฎหมายนายจ้างรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี
ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาท่านรัฐมนตรีสุชาติมีนโยบายให้กระทรวงแรงงานพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการ ตลอดจนระเบียบและประกาศต่าง ๆ ของกระทรวงฯให้มีความยืดหยุ่นสอดรับกับสถานการณ์ เพื่อบริหารจัดการให้ "แรงงานต่างด้าว" ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานในประเทศไทยอย่างถูกต้อง และมีสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิ ไม่ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน
โดยเสนอครม.เพื่อมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ กว่า 4 แสนรายได้รับอนุญาตทำงาน
ต่อมาเสนอครม.เพื่อมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว
หรือเคยได้รับอนุญาตทำงาน แต่ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้ต่อไป ถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 หรือ 2 ปี นับแต่วันที่การอนุญาตเดิมสิ้นสุด
รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ซึ่งทำให้ "แรงงานต่างด้าว" ได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน ช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก