ผบ.ทร. ถก ศรชล. ขับเคลื่อนงานรองรับแผนปฏิบัติราชการ 5 ปี
ผบ.ทร. ประชุม คณะกรรมการบริหาร ศรชล. ขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติงาน เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ รองรับแผนปฏิบัติราชการ 5 ปี ในห้วงปี พ.ศ.2566 – 2570
25 พ.ย. 2564 พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลปะโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ประจำปีงบประมาณ 2565 และเปิดการปฐมนิเทศกำลังพล ณ โรงแรมดุสิตธานี จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะ เลขาธิการ ศรชล.
รวมถึงกรรมการบริหารจากหน่วยงานหลัก ของ ศรชล. และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่สำคัญคือ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร นายสมพงษ์ คล้อยแคล้ว ผู้ตรวจการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พลตำรวจตรี โชคชัย นนท์ปฎิมากุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้าน
การเดินเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ รวมถึง นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดชลบุรี เข้าร่วมประชุม
คณะกรรมการบริหาร ศรชล.นับเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน ศรชล.ที่ยกระดับเป็นศูนย์อำนวยการตาม พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 มีหน้าที่ พิจารณาให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานในหน้าที่และอำนาจของ ศรชล. รวมทั้งวางระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ของ ศรชล.
สำหรับวาระการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ในครั้งนี้มีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ นโยบายการปฏิบัติงานของ ศรชล. ประจำปีงบประมาณ 2564 ที่มุ่งเน้นการมุ่งเน้นการพัฒนา ศรชล.
ในทุกด้าน เพื่อให้การปฏิบัติงานแบบบูรณาการและการพัฒนา ศรชล. มีความเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อรองรับแผนปฏิบัติราชการ 5 ปี ในห้วงปี พ.ศ.2566 – 2570 ประกอบด้วย
1. การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ ศรชล. และแผนรองรับระดับ 3 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีความสอดคล้อง และรองรับสถานการณ์ทางทะเลในอนาคต
2. การบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการค้ามนุษย์และการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
3. เพิ่มมาตรฐานและความต่อเนื่องในการกำกับดูแลหน่วยงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เข้มงวดการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์
4. พัฒนาหลักปฏิบัติประจำในการบูรณาการ การอำนวยการ และการประสานงานในการปฏิบัติงานร่วมกัน ระหว่าง ศรชล.ส่วนกลาง ศรชล.ภาค และ ศรชล.จังหวัด ให้สามารถขับเคลื่อนการป้องกันปราบปราม การกระทำผิดในทะเล และจัดการแก้ไขปัญหาบรรเทาสาธารณภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็ว
และมีประสิทธิภาพ
5. เร่งรัดพัฒนากลไกการบูรณาการข้อมูลข่าวสาร การเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานทางทะเลทั้งในและต่างประเทศ
6. เร่งรัดการดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนงาน นโยบาย แนวทาง/คู่มือ/แผนเผชิญเหตุ
และบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
7. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานหลักใน ศรชล. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระหว่างผู้ที่โยกย้ายและผู้ที่มารับหน้าที่ใหม่ และดำรงความพร้อม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงาน เครือข่าย และภาคประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการบรรจุ และจัดเตรียมหลักสูตรการอบรมรองรับข้าราชการพลเรือนใหม่ ให้มีความรู้ ประสบการณ์และความเข้าใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
9. สร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้ประชาชนในพื้นที่
และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายทะเล มีความเข้าใจและร่วมมือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
10. รวบรวมปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาและกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ในส่วนของการอบรมปฐมนิเทศ ให้แก่กำลังที่ปฏิบัติงานใน ศรชล. มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติงานใน ศรชล. ให้กับกำลังพล ศรชล. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการบรรยายถ่ายทอด องค์ความรู้และประสบการณ์จากส่วนอำนวยการและส่วนปฏิบัติการ รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ในระดับต่าง ๆ ของ ศรชล. รองรับแผนปฏิบัติราชการของ ศรชล. ประจำปีงบประมาณ 2565
โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมปฐมนิเทศ จากหน่วยต่างๆ ทั้งในส่วนของกองทัพเรือ และหน่วยงานของหลักของ ศรชล. ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งผู้แทนหน่วยขึ้นตรงต่างๆ ใน ศรชล. ศรชล.ภาค ศรชล.จังหวัด และ ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ (ศคท.หรือ PSCC) จำนวน 195 นาย เข้ารับการอบรม
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศรชล.ได้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย
การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ศรชล. ได้บูรณาการการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากหน่วยงานหลักใน ศรชล. โดยเฉพาะการร่วมกันจัดทำ “หลักสูตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (Search and Rescue)” รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมและจะเป็นแกนหลักในการฝึกการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย (SAREX) โดยมีเป้าหมายในการเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในปีงบประมาณ 2566
การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งศรชล. ได้รับมอบภารกิจ ต่อจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยได้ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงได้นำระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAV) มาสนับสนุนการตรวจสอบเป้าต้องสงสัยร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC) ของกรมประมง ซึ่งสามารถจับกุมเรือประมงต่างชาติลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย และได้ตรวจพบจับกุมเรือลักลอบลำเลียงน้ำมันโดยผิดกฎหมาย ได้อย่างต่อเนื่อง
การแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และความขัดแย้งจากการทำประมงคอกหอย จนสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ภายในระยะเวลา
5 เดือน 8 วัน โดยสามารถคืนพื้นที่ 110,300 ไร่ รื้อถอนขนำ 946 หลัง เสาปูน 11,101 ต้น และ เสาไผ่รั้วคอกหอย 196,120 ต้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ศรชล. ได้เข้ามามีส่วนในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 โดยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการคมนาคมทางน้ำระหว่างประเทศด้วยการตรวจสอบเรือที่เดินทางเข้าออกประเทศผ่านระบบ National Single Window ของกรมเจ้าท่า ในการบริหารจัดการบุคคลเข้ามาราชอาณาจักร
โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนด และให้หน่วยปฏิบัติของ ศรชล. ได้แก่ ศรชล.จังหวัด และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดทั้ง 23 จังหวัดชายทะเล บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำการตรวจคัดกรองโรค COVID – 19 ลูกเรือของเรือสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามารับส่งสินค้าที่ท่าเรือต่าง ๆ ในประเทศ และการตรวจคัดกรองลูกเรือประมงโดยเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ ประจำศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมงหรือศูนย์ PIPO จนสามารถควบคุมไม่ให้โรค COVID – 19 จากภายนอกเข้ามาภายในประเทศทางน้ำได้อย่างเป็นผลสำเร็จ
“ทั้งนี้ กำลังพล ศรชล.ทุกนาย จะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะ อุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย”