“ปภ.” เตือน 12 จว. น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

“ปภ.” เตือน 12 จว. น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

ปภ. แจ้ง 12 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 28 – 30 พ.ย.64

วันนี้ (27 พ.ย.64)  กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (201/2564) ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 แจ้งว่า

 

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลางมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้ง 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่

 

ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2564 แยกเป็น

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

1. ชุมพร ทุกอําเภอ

2. สุราษฎร์ธานี 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอวิภาวดี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพนม อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอพระแสง อำเภอบ้านนาสาร อำเภอชัยบุรี อำเภอบ้านตาขุน อำเภอเกาะสมุย

3.นครศรีธรรมราช 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพรหมคีรี อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอลานสกา อำเภอช้างกลาง อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอทุ่งสง อำเภอนาบอน อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอนบพิตํา อำเภอชะอวด อำเภอท่าศาลา อำเภอจุฬาภรณ์

4.พัทลุง 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตะโหมด อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา อำเภอป่าบอน อำเภอป่าพะยอม อำเภอเขาชัยสน

5.สงขลา 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอรัตภูมิ อำเภอจะนะ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาหม่อม อำเภอนาทวี

6.ปัตตานี 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์

7.ยะลา 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอยะหา อำเภอกาบัง อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง อำเภอธารโต อำเภอเบตง

8.นราธิวาส 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสาคร อำเภอรืออเสาะ อำเภอจะแนะ

9. ระนอง ทุกอําเภอ

10.พังงา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอคุระบุรี อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง

11.ภูเก็ต 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอถลาง

12.กระบี่ 3 อำเภอ  ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา

 โดยกำชับให้จังหวัดประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังปริมาณฝนสะสมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าผ่านกลไกการสื่อสารแจ้งเตือนภัยในพื้นที่

 

พร้อมเน้นย้ำทีมปฏิบัติการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์หรือสถานการณ์ขยายวงกว้างให้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ชุดเคลื่อนที่เร็ว รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และปฏิบัติตามแนวทางของแผนเผชิญเหตุในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด

 

สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป