ตลท.มั่นใจตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่ง พร้อมเป็นแหล่งระดมทุนหนุนเศรษฐกิจปี 65

ตลท.มั่นใจตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่ง พร้อมเป็นแหล่งระดมทุนหนุนเศรษฐกิจปี 65

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยมีบทบาทช่วยเศรษฐกิจปี 65 เติบโต มั่นใจกลุ่มธุรกิจอิงการบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัว พร้อมลั่นระฆัง LiVE Exchange แหล่งระดมทุนสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอี ต้นปี 65

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงานสัมมนา "(นาที)ลงทุนโค้งสุดท้ายปี 64" หัวข้อเรื่อง "ตลาดหุ้นกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 65" มองไปข้างหน้าในปี 2565 ตลาดทุนมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

โดยคาดว่าธีมการเติบโตในปี 2565 จะมาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ อาทิ การเงิน ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ทรัพยากร และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม จากเดิมในปี 2564 การฟื้นตัวแบบตัว K (K-shaped Recovery) มาจากกลุ่มเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเกษตร-อาหาร เป็นหลัก

นอกจากนี้ คาดว่าการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีจะเริ่มกลับมา สำหรับการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ผนึกกำลังกับผู้ร่วมตลาดกว่า 10 ราย เพื่อสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุน รวมถึงกระดานหุ้น LiVE Exchange ซึ่งจะเปิดให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าระดมทุนในได้ในช่วงต้นปี 2565

อีกหนึ่งธีมการเติบโตที่สำคัญ จะมาจาธุรกิจที่อยู่ในกระแสความยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทย ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2564 มีหุ้นไทยที่เข้าคำนวณในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก อาทิ ดัชนี DJSI 24 บริษัท สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 รวมถึงดัชนี MSCI ESG 40 บริษัท และ FTSE4Good 40 บริษัท

ในส่วนของนักลงทุนมีความต้องการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น สะท้อนจากกองทุนรวม ESG จำนวน 50 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) 5.4 หมื่นล้านบาท และเป็นที่น่าสนใจว่าผลตอบแทนของหุ้นที่มี ESG สามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาด

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2564 ยังทำหน้าที่ได้ดีทั้งในแง่เป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ และช่องทางการลงทุนของผู้ลงทุน สะท้อนจากมูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 สูงแตะ 1.2 แสนล้านบาท จากปี 2563 ที่ 1.6 แสนล้านบาท

ในแง่ของการลงทุน จำนวนบัญชีนักลงทุนเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบัญชีในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา จากปี 2563 ที่เพิ่มขึ้น 7 แสนบัญชี สะท้อนว่ามีนักลงทุนเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดสูงขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 9.5 หมื่นล้านบาท สูงสุดในอาเซียน และเติบโตกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา