"ปิติ ตัณฑเกษม" ชี้ 5 ความย้อนแย้งเศรษฐกิจไทย ต้องแก้ไขก่อนเดินต่อ
"ปิติ ตัณฑเกษม" ชวนดู 5 ความย้อนแย้งเศรษฐกิจไทย ต้องรู้ปัญหาก่อนเดินหน้าคว้าเทรนด์ใหม่ในโลกอนาคต มองโอกาสเติบโตต่อได้ต้องเข้าใจ "พฤติกรรมคน-กฎกติกาโลก" ที่เปลี่ยนแปลง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb เปิดเผยในงานเสวนา Intania Dinner Talk ภายใต้หัวข้อ "มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022" ว่า ก่อนที่ประเทศไทยจะเดินหน้าคว้าเทรนด์ในอนาคต จะต้องพิจารณาก่อนว่าปัญหาของเราคืออะไร
โดยอยากชวนดูความย้อนแย้งของประเทศไทย 5 เรื่อง ได้แก่ 1. เงินทุนสำรองที่สูง ติดอันดับ 13 ของโลก มูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองจากเยอรมันเท่านั้น เพราะการส่งออกไทยที่ทำได้ดี แต่ทว่าคนไทยยังยากจนติดอันดับโลก สะท้อนว่าคนที่แพ้กับคนที่ชนะเป็นคนคนละกลุ่ม แม้เราจะตั้งเป้าหมายเติบโตร่วมกัน (Inclusive Growth) แต่ความร่ำรวยยังกระจุกตัวในกลุ่มแคบ
นอกจากนี้ นับวันช่องว่างทางชนชั้นจะยิ่งแคบลง สะท้อนจากการจ้างงาน 100 คน พบว่า 50 คนแรกอยู่ในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 30 คนถัดมาอยู่ในภาคการเกษตร และอีก 10 คนอยู่ในภาครัฐ รวมแล้ว 90 คน แต่สร้างจีดีพีได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง สะท้อนว่า 90% ของคนไทยมีรายได้ค่อยข้างต่ำ
ส่วนอีก 10 คนที่เหลือ เป็นลูกจ้างของบริษัทขนาดใหญ่ แม้จะมีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น แต่เป็นผู้สร้างจีดีพีอีกครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อภาคธุรกิจกำลังทำตัวให้เบา (ลีน) เอาเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาแทนที่คน อาจส่งผลให้การจ้างงานในอนาคตลดลงเหลือ 5% เท่านั้น
2. สภาพคล่องล้นระบบ อีกทั้งยังไม่ต้องไปกู้เงินต่างประเทศอีกด้วย สะท้อนว่าเงินในประเทศอยู่ในระดับที่สูง แต่ธนาคารกลับปล่อยกู้ไม่ออก ซึ่งต่างกับการไม่ปล่อยกู้ เช่น หาก ปตท.จะกู้เงินไปทำธุรกิจ ธนาคารก็อยากปล่อยให้ ขณะที่ SMEs ส่วนใหญ่ต้องการกู้เงินเพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย หรือกู้เพื่อไปอุดรอยรั่ว
เช่นเดียวกันกับประชาชน หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐก็อาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินในยามที่ถตกงานอยู่ ซึ่งการกู้เงินลักษณะนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะจะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ก็ยังไม่พอค่าใช้จ่าย
3. ไม่มีดีมานด์แต่สินค้าแพงขึ้น เพราะราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยกำลังมีแผนดำเนินการเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปฏิรูปพลังงานไปใช้พลังงานสะอาดที่ผลิตได้ในเมืองไทย เพราะหากไม่ปฏิรูป เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
รวมถึงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งผู้ขายจะไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนได้ เพราะแม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่หากไม่มีคนซื้อก็จำเป็นต้องลดราคาลง ส่งผลให้กำไรจากการขายสินค้าเหลือน้อยลง
4. คนตกงาน รัฐบาลต้องออกมาช่วย แต่เราหาคนทำงานไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก อาทิ ในภาคก่อสร้างหาคนไม่ได้เพราะแรงงานเมียนมากลับประเทศ ขณะที่ธนาคารหาคนไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่จะมาทำงานด้านดิจิทัล เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ได้นักศึกษาที่ตรงกับตลาดงาน เราอยากได้คนมาก แต่กลับไม่มีคน ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งยังตกงาน
ความย้อนแย้งสุดท้าย 5. คนอยู่บ้านมาก แต่อัตราการเกิดของประชากรลดลงเรื่อยๆ จนประชากรไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจเพราะความหดหู่ของสังคมที่ส่งผลให้คนไม่อยากมีลูก ทั้งที่ประชากรเป็นเครื่องจักรที่ผลักดันการเติบโตของประเทศมาโดยตลอด เพราะหากประชากรเพิ่มขึ้น หนึ่งบ้านก็จะมีการบริโภคมากขึ้น
แต่หากอัตราการเกิดของประชากรไทยลดลง จะมาซ้ำเติบจีดีพีของเราที่เติบโตฝืดอยู่แล้ว จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องผลักดันชาวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทย ผลักดันคนมีคุณภาพ และเปิดประเทศมากขึ้น เพราะหากอยู่กันเองแบบนี้มีแต่จะถดถอยแน่นอน
อย่างไรก็ดี สำหรับโอกาสและแนวทางการแก้ไข ต้องมอง 3 ปัจจัย เพราะการเปลี่ยนแปลงสามารถเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคไปพร้อมๆ กัน หากอยู่นิ่งจะไม่มีโอกาสเข้ามา แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นได้ทั้งความท้าทาย ความเดือดร้อน หรือโอกาสก็ได้
โดยมองมิติที่ควรพิจารณา คือ 1. พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ส่งผลให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น วินมอเตอร์ไซค์ที่มีรายได้น้อย ด้วยความเดือนร้อนและการเข้ามาของแพลตฟอร์ม เช่น แพลตฟอร์มโรบินฮู้ดของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างแกร็บ ฯลฯ
ก่อให้เกิดธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (Inclusive Business Model: IBM) คนขี่มอเตอร์ไซค์สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือร้านอาหารท้องถิ่นสามารถส่งข้ามไปพื้นที่ไกลๆ ได้ โจทย์คือทำอย่างไรให้เรามีโมเดลธุรกิจที่ Inclusive แบบนี้
หรือในกรณีของ ปตท.ที่มีรูปแบบการขยายธุรกิจแบบดีลเลอร์ ลงทุนเองทั้งหมด หรือ DODO (Dealer Own Dealer Operate) สามารถสร้างรายได้อย่างน้อยให้ครอบครัวหนึ่งขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้ เช่นเดียวกับร้านกาแฟอเมซอน
ทั้งนี้ มองว่า SMEs อยู่ไม่ได้ หากไม่มีโมเดลธุรกิจจากรายใหญ่ จะปล่อยให้ SMEs ขึ้นชกโดยที่ไม่มีโมเดลธุรกิจหรือไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยไม่ได้ ดังนั้น รายใหญ่ต้องมานั่งคิดแล้วว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จะก่อโอกาสทางธุรกิจอะไร
2. กฎกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีกติกาโลกขึ้นมามากมาย ด้วยกติกาใหม่ สินค้าที่เคยขายได้ หรือรูปแบบเดิม ก็จะขายไม่ได้
แต่หากเราเข้าใจกฎกติกาโลกแบบใหม่ และเราสามารถไปจุดนั้นได้ก่อน ตลาดซึ่งเคยมีเจ้าของ เจ้าของก็อาจจะเปลี่ยนมือ แต่กลับข้างกัน ตลาดที่เราเคยเป็นเจ้าของและเราตามกติกาใหม่ไม่ได้ก็อาจจะเปลี่ยนมือได้เหมือนกัน