จากกรณี “พระมหาไพรวัลย์” ไขข้อข้องใจ พระสงฆ์มี “ทรัพย์สิน” แบบไหนได้บ้าง?
จากกรณี "พระมหาไพรวัลย์" กับประเด็น "ทรัพย์สิน" ของพระสงฆ์ที่ได้มาในขณะที่ครองสมณเพศ ชวนรู้ว่าพระภิกษุสามารถมีทรัพย์สินแบบไหนได้บ้าง? และหลังจาก "ลาสิกขา" แล้วยังมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นหรือไม่?
จากกรณีที่ “พระมหาไพรวัลย์” หรือ “พส.ไพรวัลย์” ขวัญใจชาวเน็ตรุ่นเยาวชน เตรียมลาสิกขาในวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกโซเชียลที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก
ต่อมาเกิดกระแสแรงต่อเนื่องกับประเด็นการถือครอง "ทรัพย์สิน" ของพระภิกษุว่าสามารถทำได้หรือไม่? แล้วมีข้อกำหนดชี้แจงไว้ในข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง?
โดยเฉพาะกรณีที่พระสงฆ์ "ลาสิกขา" จะต้องทำอย่างไรกับทรัพย์สินเหล่านั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้พร้อมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ท้าตรวจบัญชี 2 พส. หลังพระมหาไพรวัลย์ ถูกสื่อตีข่าวมั่วมีเงิน 300 ล้าน
- "พระมหาไพรวัลย์" ความไม่เป็นธรรมที่อยากบอก
- คำอำลา พระมหาสมปอง ถึง "พระมหาไพรวัลย์" ใจหาย นับถอยหลังใกล้ถึงวันลาสิกขา
- ชัดแล้ว! "พระมหาไพรวัลย์" เตรียมลาสิกขา 4 ธันวาคมนี้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622, 1623 และ 1624 ที่พูดถึงสิทธิในการรับมรดกของพระภิกษุ มีสาระสำคัญที่ต้องรู้ ดังนี้
1. ทรัพย์สินที่มี “ก่อนอุปสมบท”
สำหรับทรัพย์สินที่พระภิกษุมีก่อนอุปสมบท ถือเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของท่าน หากในอนาคตได้ "มรณภาพ" ทรัพย์สินเหล่านี้จะตกทอดเป็นมรดกของทายาท
2. ทรัพย์สินที่มีขณะ “อยู่ในสมณเพศ”
สำหรับทรัพย์สินที่พระภิกษุมีหรือได้มาในระหว่างในครองสมณเพศ แม้ญาติโยมถวายให้ ก็ยังเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่หากว่าพระภิกษุ “มรณภาพ” สมบัติจะตกเป็นของวัดที่พระภิกษุจำพรรษา เว้นแต่ว่าพระภิกษุได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนแล้วว่าจะยกให้ใคร
3. พระภิกษุสามารถรับมรดกได้หรือไม่?
- พระภิกษุสามารถเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมได้ เพียงแต่ต้องสึกออกมาเสียก่อน
- เมื่อพระภิกษุสึกแล้วจะเรียกร้องเอาทรัพย์สินในฐานะทายาท ต้องดำเนินการภายใน 1 ปี
- หากเจ้าของมรดกทำพินัยกรรมไว้แล้ว พระภิกษุไม่จำเป็นต้องสึกก็ได้
4. ความเคลื่อนไหวของวงการพุทธศาสนา
จากกระแสข่าวของพระไพรวัลย์ ทาง “สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ” ได้ออกมาชี้แจงว่า พระมหาไพรวัลย์ไม่จำเป็นต้องคืนทรัพย์สินให้กับทางวัด
นอกจากนี้ “พระพยอม” ยังได้ให้ความเห็นว่า พระเก็บเงินใช้หลังลาสิกขาได้ โดยไม่ผิดธรรมวินัย โดยแนะนำว่าให้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดำเนินชีวิตต่างๆ แจกเป็นทุนการศึกษา เป็นต้น
------------------------
อ้างอิง: สำนักงานกิจการยุติธรรม, THAILAWS