“ไพรมารี่”ที่พรรคไม่ต้องการ ลุ้นถอดสลัก“คุมนักการเมือง”
"กกต." ฐานะหน่วยงานที่ "รัฐบาล" มอบหมายให้ แก้ไข กฎหมายลูกที่ใช้เลือกตั้ง2ฉบับ ยกร่างแก้ไขและเปิดรับฟังความเห็นแล้ว แต่เนื้อหายังไม่ "โดนใจนักการเมือง" ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ "ส.ส." ในสภาฯ ที่จะเสนอร่างแก้ไข เพื่ออุดช่องว่าง - ปัญหาที่เป็นอุปสรรคเลือกตั้ง
ได้เห็นหน้าตาของร่างแก้ไข “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับแล้ว หลัง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) นำเนื้อหาร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่งให้ “พรรคการเมือง” ร่วมแสดงความคิดเห็น
ก่อนจะประมวลความเห็นประกอบรายละเอียดของเนื้อหาส่งให้ “คณะรัฐมนตรี” (ครม.) พิจารณา เสนอเข้าสู่รัฐสภาให้พิจารณาในขั้นตอนตรากฎหมายช่วงต้นเดือนมกราคม 2565
สำหรับสาระของร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ “กกต.” ถือ “รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564” ที่แก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และปรับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เป็นระบบคู่ขนาน เป็นหลักในการแก้ไข
โดยในชั้นนี้ ยังไม่พบประเด็นที่เกินเลยหลักการ เพราะรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 นั้น ยกเนื้อหาของ “รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 1 )พ.ศ.2554” มาบัญญัติ แต่ได้ปรับตัวเลข ส.ส.เขต จาก 375 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน เท่านั้น
ทำให้การแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จึงยกเนื้อหาของกฎหมายประกอบปี 2554 มาบัญญัติ และแก้ไขเพียงตัวเลข ส.ส.ให้สอดคล้องกับตัวเลขปัจจุบัน
ทว่าในความเห็นของ “นักการเมือง” มองว่า “กกต.” ยังไม่แก้ปมปัญหาที่เป็นอุปสรรคของ “นักเลือกตั้ง” โดยเฉพาะประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมในการแข่งขันเลือกตั้ง
อย่าง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แก้ไขรวม 37 มาตรา เน้นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และปรับเนื้อหาให้ กกต.มีบุคลากรทำงานมากขึ้น
แต่ไม่พบรายละเอียดที่แก้ปัญหาซึ่งเจอในการเลือกตั้งปี 2562 เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต. ถูกวิจารณ์อย่างมากถึงธรรมาภิบาลที่ใช้ในการทำงาน และถูกมองว่าใช้หน้าที่ตามกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มขั้ว คสช.
โดย “แบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ในเชิงพื้นที่" เพื่อให้บางพรรคได้เปรียบ และหวังผลชนะการเลือกตั้ง
หรือ กรณีข้อกำหนดหลักเกณฑ์หาเสียงเลือกตั้งที่ไม่ปรับแก้จากของเดิม ซึ่งถูก “นักการเมือง” ท้วงว่าล้าสมัย ไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ที่เน้นใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างฐานคะแนนนิยม
หรือ กรณีที่ กกต.แก้ไขเนื้อหา ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 73 ตัดประเด็นให้ “ผู้สมัคร ส.ส.ที่มีความรู้ความสามารถในทางศิลปะ" ใช้ความสามารถที่ตัวเองมีหาเสียงให้ตัวเองออก ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่จำกัดสิทธิจนเกินเหตุหรือไม่
หรือ กรณีการปรับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นแบบระบบคู่ขนาน ที่ถูก “พรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก” มองว่าปิดโอกาสของการเคารพทุกคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้ง ที่เจตจำนงของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับ “ทุกเสียงไม่ตกน้ำ”
และเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่อาจเป็นตัวแทนเฉพาะกลุ่ม เป็นตัวแทนปวงชนที่มีความหลากหลายในสภาฯ เป็นต้น
ส่วน "ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง” ที่ กกต.แก้เพียงตัวเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามบัญชีพรรคการเมือง 100 คน ในมาตรา 51 (2) และ (3)
ขณะที่สิ่งที่นักการเมืองต้องการคือ ปรับเนื้อหาว่าด้วยข้อบังคับที่เกี่ยวกับสมาชิกพรรค การชำระค่าสมาชิกพรรค รวมถึงการหาสมาชิกพรรคให้ได้ 1 หมื่นคนใน 4 ปี กำหนดสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด รวมถึง“ไพรมารี่โหวต” เพื่อหาผู้สมัคร ส.ส.ในขั้นต้น
ในเรื่องนี้ “นิกร จำนง” ในฐานะวิปรัฐบาล บอกว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นตรงกันต่อการแก้ไข และให้ความเห็นส่วนตัวว่า ควรปรับจาก “ไพรมารี่ อิเล็กชั่น” (Primary election vote) ให้เป็น “ไพรมารี่ ซีเล็คชั่น” (Primary selection) โดยคงเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมผ่านสมาชิกใน “จังหวัด” แทนสมาชิกใน “เขตเลือกตั้ง” ในรูปแบบของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร
การปรับเปลี่ยนเรื่อง “ไพรมารี่โหวต” เชื่อว่าไม่ง่ายนัก เพราะมีด่านหินจาก “ส.ว.” ส่วนใหญ่ที่เป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ “พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2561” และเป็นผู้ออกแบบ “ไพรมารี่โหวต” ให้เป็นด่านหน้าของการสกัด “นายทุน” ครอบงำพรรคการเมือง
และอีกหลายโมเดลในกฎหมายที่อดีต สนช.วางเงื่อนไขเพื่อสร้าง “นักการเมืองน้ำดี” เอาไว้
แต่หาก “นักการเมือง” แจ้งความประสงค์โดยผ่านทาง “พลังประชารัฐ” เชื่อว่าด่านของ “ส.ว.” น่าจะผ่านได้ไม่ยาก
แต่ต้องวัดใจว่า หากถอดสลักแล้ว “การเมืองไทย" จะไม่วนวงรอบเดิมที่เคยสร้างปัญหาให้บ้านเมือง.