อัพเดทล่าสุด! "เยียวยากลุ่มคนกลางคืน" รับเหนาะๆ 1.2 หมื่นต่อคน
อัพเดทล่าสุด มาตรการช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบการ และลูกจ้างสถานบริการสถานบันเทิง เคาะจ่าย 5,000 บาท ม.33 รับ2ต่อ รับเหนาะๆ 1.2 หมื่นต่อคน คาดว่าสิ้นเดือนนี้จ่ายเงินเยียวยาได้ทั้งหมด เช็กรายละเอียดที่นี่!!
คืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มนักร้อง นักแสดง นักดนตรี ศิลปินและผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ อาชีพอิสระ ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือกับตัวแทนภาคเอกชน ธุรกิจจัดอีเว้นท์-คอนเสิร์จ สถานบริการบันเทิง พร้อมกับสภาพัฒน์ ครั้งที่ 2 ถึงแนวทางช่วยเหลือเยียวยานักร้อง นักแสดง นักดนตรี ศิลปินและผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยผลจากการหารือได้ข้อสรุปมีมติร่วมกัน เห็นสมควรจ่ายเงินเยียวยาให้ 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มนายจ้างที่มีลูกจ้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป ที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SME จะจ่ายให้นายจ้าง 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน เช่น ธุรกิจ SME นั้นมีลูกจ้าง 100 คน นายจ้างก็จะได้เงิน 300,000 บาท/เดือน โดยให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี
ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเยียวยาเป็นกลุ่มที่ 2 คือ จ่ายให้ลูกจ้างแรงงาน ซึ่งอยู่ในประกันสังคม ม.33 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก กรณีเหตุสุดวิสัย จ่าย 50% ของรายได้ และส่วนที่ 2 เยียวยาอีก 5,000 บาท (ม.33 เรารักกัน) หากได้รับเงิน 2 ส่วนรวมกันก็จะเป็นเงิน 12,500 บาท ถือว่าได้รับ 2 ต่อ
และกลุ่มที่ 3 จะเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากอยู่ในอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีเงินเดือน ไม่มีฐานข้อมูลยืนยันอาชีพ เช่น นักดนตรี ศิลปิน ซึ่งจะต้องลงทะเบียนใน ม.40 ผ่านทางสมาคมธุรกิจบันเทิง ผับ บาร์ เป็นผู้รับรอง โดยจะได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท
นอกจากนี้ในส่วนของศิลปินผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้พิจารณาจ่ายเงินเยียวยา
ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้วันนี้ จะเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงินกู้รวมวงเงินประมาณ 1 พันล้านบาท ประเมินว่ามีผู้ได้รับเยียวยาประมาณ 3 แสนคน และคาดว่าจะสามารถอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาได้ภายในเดือนนี้ ส่วนกรณีที่หากวันที่ 16 มกราคม 2565 สถานบันเทิงไม่สามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด19 ก็จะเสนอรัฐมนตรีพิจารณาขอยกเว้นบางกิจกรรม เช่น การทำบุญประเพณีที่ต้องมีดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เพราะจัดงานไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง
ด้านนายธเนส สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรีอิสระอาวุโส และตัวแทนผู้จัดคอนเสิร์ต ระบุว่า ได้รวบรวมรายชื่อตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจบันเทิง ดนตรี ผับ บาร์ เสนอให้กับกระทรวงแรงงานแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังมีตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบเข้ามาต่อเนื่อง แต่คาดว่าไม่เกิน 1-2 แสนคน
และนอกจากเสนอชื่อขอรับเงินเยียวยา ยังประสานไปยังผู้ประกอบกิจการธุรกิจบันเทิง ผับ บาร์ ให้สร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ปฏิบัติตามหลักมาตรการด้านสุขอนามัย หรือ SHA เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อที่หากวันที่ 16 มกราคม ยังกลับไปเปิดบริการไม่ได้ อย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยเหลือภาครัฐและตัวเองด้วย