ประกันรายได้เกษตรกร "เงินประกันข้าว" เช็ค ธ.ก.ส. นัดโอนพรุ่งนี้
เงินประกันรายได้เกษตรกร เช็คส่วนต่างราคา "เงินประกันข้าว" ธ.ก.ส. นัดวันโอนเงินพรุ่งนี้ ชาวนาเก็บข้าวเปลือกรอร่วมโครงการ หลังราคาตกต่ำ
ติดตามกรณี เงินประกันรายได้เกษตรกร เช็คส่วนต่างราคา เช็ค ธ.ก.ส. นัดวันจ่าย ชาวนาเก็บข้าวเปลือกรอร่วมโครงการของรัฐบาล
เมื่อเวลา 09.00 น. (7 ธันวาคม 2564) ชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ตำบลจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ต่างรวมตัวกันอย่างคึกคัก นำข้าวเปลือกที่เพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ออกมาตากไล่ความชื้นตามจุดต่างๆ ที่ทางหมู่บ้านจัดเตรียมเอาไว้ให้ ส่วนหนึ่งเตรียมส่งจำหน่ายสร้างรายได้ และแบ่งสันปันส่วนไว้ทำเมล็ดพันธุ์ กับไว้รับประทานภายในครัวเรือน
ปีนี้ ชาวนาบอกว่า ฝนตกต่อเนื่องข้าวประสบปัญหาตากเกสรไม่ดีนัก ทำให้ผลผลิตลดลงไปส่วนหนึ่ง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องราคาข้าวตกต่ำ จึงทำให้มีชาวนาบางส่วน เตรียมที่จะเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง เพื่อนำออกมาจำหน่ายในภายหลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เช็คที่นี่ เงินประกันรายได้เกษตรกร "เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000" เฮ ครม. อนุมัติแล้ว
- ครม. อนุมัติวงเงิน 7.6 หมื่นล้าน "ประกันรายได้เกษตร" ผู้ปลูกข้าวเพิ่มเติม
- ตรวจสอบ "เงินประกันรายได้เกษตรกร" ส่วนต่าง "ประกันราคาข้าว" งวดที่ 8
นายกฤษฏิ์ปัณณชาติ์ ศรีเครือทิม อายุ 52 ปี หนึ่งในชาวนาบ้านจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา บอกว่า ในปีนี้เกิดฝนตกชุกและตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้าวเกิดปัญหาตากเกสรไม่ดี ส่งผลต่อข้าวจะเมล็ดลีบ ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนนาข้าวของตนที่มีอยู่จำนวน 27 ไร่ แต่ละปีจะได้ผลผลิตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 25-30 ตัน แต่ปีนี้ผลผลิตลดลง เหลือเพียง 17 ตันเท่านั้น แต่ถือว่ายังดีที่พอจะได้ข้าวกลับคืนมาบ้าง
แต่ปัญหาที่ตามมา ก็คือ เรื่องของราคาข้าวเปลือก ที่ปีนี้ราคาไม่ดี ชาวนาส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเก็บผลผลิตที่ได้ เอาไว้คัดแยกเป็นเมล็ดพันธุ์และเก็บไว้กินในครอบครัว ส่วนที่เหลือก็จะนำเก็บเข้ายุ้งฉาง รอไว้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือ เช่น โครงการรับประกันรายได้เกษตรกร หรือ ประกันราคาข้าว เป็นต้น เพราะหากนำไปขายตอนนี้ อาจจะไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงแรงไป
ก่อนหน้านี้ กรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคา "ประกันรายได้เกษตรกร" กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง มีอัตราส่วนต่างที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ใช้ในการจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำหรับการจ่ายเงิน งวดที่ 8 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ดังนี้
ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 3,871.59 บาท
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 3,134.58 บาท
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,191.01 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 1,954.56 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 3,615.98 บาท
ขณะที่ ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อม เร่งตรวจสอบ ข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ไว้กับ กรมส่งเสริมการเกษตร
- จะได้รับสิทธิให้เสร็จภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2564
- เตรียมการโอนเงินให้กับเกษตรกรแต่ละรายตามสิทธิที่ได้รับในวันที่ 8 ธันวาคม 2564
- ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เงินดังกล่าวจะโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง
โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภาคใต้ จำนวนประมาณ 7.7 แสนราย ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มโอนในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ประมาณ 7.5 แสนราย จากนั้นจะทยอยจ่ายตามรอบการผลิตที่แจ้งถึง 13 ธันวาคม 2564 โดยคาดว่าในรอบวันที่ 9-13 ธันวาคม 2564 จะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรตามข้อมูลที่ได้รับ และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3-7 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 64,000 ล้านบาท
ตรวจสอบสถานะและตรวจสอบจำนวนเงินประกันรายได้ ดังนี้
เข้าสู่เวบไซต์ chongkho.inbaac.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรอกเลขประจำตัวประชาชน เพื่อใช้ในการเช็คเงินเกษตรกร การเช็คเงินเกษตรกร 2564 เข้าหรือยัง สามารถทราบผลได้ทันที หลังจากกรอกเลขบัตรประชาชน โดยจะมีรายละเอียดของบัญชี จำนวนเงิน และโครงการของเงินช่วยเหลือที่ได้รับ
ตรวจสอบข้อมูลในแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile หลังจากตรวจสอบในเวบไซต์แล้วเรียบร้อย หากมีข้อมูลขึ้นว่าได้รับเงินโอน สามารถเข้าไปตรวจสอบยอดเงินได้ด้วยตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ที่มา กรมการค้าภายใน และ ธ.ก.ส.
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์