เปิดเหตุผล ครม. คงอัตราภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างอีก 2 ปี
ครม.ไฟเขียว คงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไปอีก 2 ปีตามบทเฉพาะกาล สำหรับปีภาษี 65-66 ชี้ช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจ-สังคม
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งช่วยให้มีการใช้ที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุด
พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2562 แต่ในเรื่องของการจัดเก็บภาษีนั้นยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ โดยตาม พ.ร.บ.ที่ออกมามได้มีการออกบทเฉพาะกาลในมาตรา 94 เพื่อลดอัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือเพียงแค่ 10% ของอัตราที่ต้องจัดเก็บจริงโดยใช้อัตราดังกล่าวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 - 2564
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 ได้เห็นชอบให้คงอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไปอีก 2 ปีคือตั้งแต่ปี 2565 - 2566 ตามบทเฉพาะการเดิม และจะมีการมาพิจารณาอัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่อีกครั้งในปี 2567
สำหรับเหตุผลที่ให้มีการคงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ในอัตราเดิมเป็นระยะเวลา 2 ปี รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้ 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2563 – 2564 ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีที่จะใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดระยะเวลาในปีภาษี 2564 ในวันที่ 31 ธ.ค.2564
ครม.จึงอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... เพื่อเป็นการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป โดยให้คงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564
โดยเหตุผลในการการคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 ไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้การดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง รวมถึงให้ท้องถิ่นมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้อัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ให้จัดเก็บต่อไปอีก 2 ปีตามบทเฉพาะกาลแนบท้าย พ.ร.บ.ได้แก่
1.การประกอบเกษตรกรรม จัดเก็บภาษีในอัตรา0.01 – 0.1%
2.ที่อยู่อาศัยจัดเก็บภาษีในอัตรา0.02 – 0.1%
3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจัดเก็บภาษีในอัตรา0.03 – 0.1%
4.ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจัดเก็บภาษีในอัตรา0.02 – 0.1%
5.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นๆจัดเก็บภาษีในอัตรา0.02 – 0.1%
6.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพจัดเก็บภาษีในอัตรา0.3 – 0.7%
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายหลังการใช้อัตราภาษีตามร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไปแล้ว 2 ปี คือจะมีการทบทวนอีกครั้งในปีภาษี 2567 เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
“