น้อมอาลัย “สมเด็จช่วง” เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มรณภาพ รวมสิริอายุ 96 ปี
เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) (สมเด็จช่วง) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง ได้มรณภาพด้วยอาการอย่างสงบ รวมสิริอายุ 96 ปี
(9 ธ.ค.2564) สุดอาลัย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง ได้มรณภาพด้วยอาการอย่างสงบ รวมสิริอายุ 96 ปี
เฟซบุ๊ก สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ระบุว่า "ขอกราบถวายบุญกุศล เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง อดีตประธานสมัชชามหาคณิสสร อดีตประธานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้มรณภาพด้วยอาการอย่างสงบ วันที่ 9 ธันวาคม 2564 สิริอายุ 96 ปี"
สำหรับ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) นามเดิม ช่วง สุดประเสริฐ ฉายา วรปุญฺโญ เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง) ประธานสมัชชามหาคณิสสร และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ชาวพื้นที่ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เริ่มอุปสมบทวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “วรปุญฺโญ”
การศึกษา
- ปี 2480 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนประชาบาล วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
- ปี 2484 นักธรรมชั้นโท วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
- ปี 2490 นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพ-มหานคร
- ปี 2492 เปรียญธรรม 7 ประโยค สำนักเรียนวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
- ปี 2497 เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ผลงาน งานเผยแผ่ในต่างประเทศ
- พ.ศ. 2527 ได้เริ่มสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อวัดว่า “วัดมงคลเทพมุนี” เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่เผยแผ่และปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวต่างชาติมาถึงปัจจุบัน สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 50 ล้านบาท
- พ.ศ. 2540 ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำญี่ปุ่น” เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นที่เผยแผ่และปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวญี่ปุ่นภายในวัดมีเสนาสนะบริบูรณ์ และได้สร้างอุโบสถสถาปัตยกรรมไทย ประกอบพิธีผูกสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 9-10 เมษายน พ.ศ. 2548 สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาท
- พ.ศ. 2545 ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำนิวซีแลนด์” เมืองทัวรังง่า ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเป็นที่เผยแผ่และปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวนิวซีแลนด์ ปัจจุบันกำลังดำเนินการสร้างอุโบสถ และเสนาสนะ สิ้นค่าก่อสร้าง ประมาณ 60 ล้านบาท
งานสาธารณูปการ
พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ได้ดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้อาศัยอยู่ในวัด และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สาธุชนที่มาทำบุญที่วัดปากน้ำ ตราบถึงปัจจุบันนี้ ในเรื่องหลัก 6 ประการ คือ
1. บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะเก่า
2. ก่อสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุใหม่
3. อนุรักษ์โบราณวัตถุ รักษาให้อยู่ในสภาพดี
4. จัดซื้อที่ดินเพื่อขยายอาณาเขตของวัด
5. สร้างถนนกึ่งสะพานเป็นทางเข้าวัด
6. จัดทำระบบไฟฟ้าและน้ำประปาทั่วทั้งวัด
รวมค่าก่อสร้างภายในวัดเป็นจำนวนเงินประมาณทั้งสิ้น 400,000,000 บาท (สี่ร้อยล้านบาทถ้วน)
งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
- พ.ศ. 2524 ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ” เพื่อนำดอกผลของมูลนิธิใช้ในการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ และได้ชักชวนสาธุชนร่วมสมทบทุนในโอกาสต่าง ๆ มาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2548) รวมค่าบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์นอกวัด เป็นเงินจำนวนประมาณทั้งสิ้น 230,000,000 บาท (สองร้อยสามสิบล้านบาทถ้วน)
ประมวลค่าก่อสร้างทั้งสิ้นมีดังนี้ ค่าก่อสร้างภายในวัด เป็นเงินจำนวน 400,000,000 บาท ค่าก่อสร้างภายนอกวัด เป็นเงินจำนวน 230,000,000 บาท รวมทั้งสิ้นประมาณ เป็นเงินจำนวน 630,000,000 บาท (หกร้อยสามสิบล้านบาทถ้วน) พ.ศ. 2529 ได้จัดถวายทุนแก่สำนักศาสนศึกษา 72 แห่งทั่วประเทศ สำนักละ 1 แสนบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นทุนมูลนิธิเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ในนามพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) รวมปัจจัยทั้งสิ้น 7,200,000 บาท (เจ็ดล้านสองแสนบาทถ้วน)
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย , สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย