ชวนส่อง “รถไฟฟ้าสีชมพู” เปิดวิ่งทดสอบครั้งแรก มีอะไรบ้างที่ว้าว?
"รถไฟฟ้าสายสีชมพู" หรือน้องนมเย็น ได้เริ่มวิ่งทดสอบระยะครั้งแรกแล้ววันนี้ 9 ธ.ค. 64 ใครที่อยู่ในพื้นที่ที่ให้บริการ ต้องรู้จักรถไฟฟ้ารุ่นนี้ให้มากขึ้น เรารวบรวมข้อมูลสำคัญมาให้เช็คลิสต์ที่นี่!
วันนี้ (9 ธ.ค. 64) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี หรือที่ชาวโซเชียลมีเดียเรียกกันอย่างน่ารักๆ ว่า “น้องนมเย็น” ได้ทำการวิ่งทดสอบระยะครั้งแรกแล้ว ในระยะทาง 34.5 กิโลเมตร มีทั้งหมด 30 สถานี
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนผู้โดยสารในพื้นที่ที่ให้บริการ มารู้จักจุดเด่นและสิ่งที่น่าสนใจของรถไฟฟ้าสีชมพูให้มากขึ้น ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” มีลักษณะอย่างไร?
รถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นรถไฟฟ้าที่ทำงานอย่างไร้คนขับ ผลิตจากบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำของโลกที่ชื่อว่า บริษัท Bombardier Rail Control Solutions ซึ่งรุ่นที่นำเข้ามาคือรุ่น Innovia Monorail 300
สำหรับลักษณะของรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีความกว้าง 3.142 เมตร มีความยาว 50.474 เมตร และมีความสูง 4.053 เมตร ขับเคลื่อนด้วยล้อยาง มีระบบควบคุมอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุม และมีรูปทรงของตัวรถไฟฟ้าที่โฉบเฉี่ยวทันสมัย
2. รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีให้บริการกี่ตู้ กี่ที่นั่ง?
การเรียงตู้จะเรียงแบบ A-C-D-B โดยมีที่นั่งดังต่อไปนี้
- ตู้ A-B (ตู้หัวและท้าย) มีทั้งหมด 14 ที่นั่ง
- ตู้ C-D (สองตู้กลาง) มีทั้งหมด 16 ที่นั่ง ภายในตู้ทั้งหมดจะไม่มี “ที่ยืนพิง”
สำหรับจำนวนล้อรถ จะมีล้อยางรับน้ำหนัก (Load Tire) ที่ใช้วิ่งบนคาน อยู่ที่ 2 ตัวต่อโบกี้ และมีล้อยางนำทาง (Guide Tire) ที่ใช้วิ่งประคองขบวนรถไฟฟ้า 6 ตัวต่อโบกี้ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ตัวรถวิ่งบนคานได้อย่างปลอดภัย
3. รถไฟฟ้าสายสีชมพูเหมือนกับรถไฟฟ้ารุ่นไหนบ้าง?
- รถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นรุ่นเดียวกับรถไฟฟ้าในโครงการดังต่อไปนี้
- รถไฟฟ้าสาย 15 ที่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล
- โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล ย่าน คิง อับดุลเลาะห์ (KAFD) ประเทศซาอุดิอาระเบีย
- โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
- โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สาย 1 และ สาย 2 ของเมืองอู่หู ประเทศจีน เมืองที่ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลรุ่นนี้อีกด้วย
4. 30 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีที่ไหนบ้าง?
สถานีให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีด้วยกันทั้งหมด 30 สถานี ดังต่อไปนี้
1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี, 2. สถานีแคราย, 3. สถานีสนามบินน้ำ, 4. สถานีสามัคคี, 5. สถานีกรมชลประทาน, 6. สถานีปากเกร็ด, 7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด, 8. สถานีแจ้งวัฒนะปากเกร็ด 28, 9. สถานีเมืองทองธานี, 10. สถานีศรีรัช, 11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14, 12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ, 13. สถานีทีโอที, 14. สถานีหลักสี่, 15. สถานีราชภัฎพระนคร, 16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ, 17. สถานีรามอินทรา 3, 18. สถานีลาดปลาเค้า, 19. สถานีรามอินทรา 31, 20. สถานีมัยลาภ, 21. สถานีวัชรพล, 22. สถานีรามอินทรา 40, 23. สถานีคู้บอน, 24. สถานีรามอินทรา 83, 25. สถานีวงแหวนตะวันออก, 26. สถานีนพรัตนราชธานี, 27. สถานีบางชัน, 28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ, 29. สถานีตลาดมีนบุรี และ 30. สถานีมีนบุรี
--------------------------------------
อ้างอิง: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี