มุกดาหาร พร้อมเปิดพรมแดนรับแรงงานสัญชาติลาว
มุกดาหาร พร้อมเปิดพรมแดนรับแรงงานต่างด้าว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลัง ก.แรงงานทำ MOU การนำเข้าแรงงาน รวม 3 สัญชาติจาก สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา
ขณะนี้ผู้ประกอบการยังขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงานจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU รวม 3 สัญชาติจาก สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้นายจ้าง และสถานประกอบการมีแรงงานที่เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ
ตามที่กระทรวงแรงงานจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU รวม 3 สัญชาติจาก สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านด่านพรมแดนเพื่อให้นายจ้าง และสถานประกอบการมีแรงงานที่เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ โดยมีมุกดาหารเป็น 1 ในจังหวัดชายแดนที่จะเปิดพรมแดนรับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ดั้งนั้น การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ตลอดจนสามารถในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบได้หรือไม่อย่างไร วันนี้มีคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และจัดหางานจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นผู้บริหารและมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
นายเฉลิมพล มั่งคั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่าสืบเนื่องจากรัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่จะเปิดด่านพรมแดนเพื่อที่จะรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติกลับเข้ามาทำงานในประเทศอีกครั้ง โดยในส่วนของภาคอีสานก็จะมีการทดลองเปิดการนำเข้าแรงงานสัญชาติลาวที่ด่านพรมแดนจังหวัดหนองคายก่อนเป็นแห่งแรก และหากกระบวนการขั้นตอนที่กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยได้ปฏิบัติงานร่วมกันแล้วไม่เกิดปัญหาข้อขัดข้อง หรือได้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลก็จะขยายมาเปิดให้ผ่านด่านพรมแดนทางจังหวัดมุกดาหารเป็นลำดับต่อไป ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวจังหวัดมุกดาหารและประชาชนทั่วไปควรจะได้รับทราบถึงมาตรการในการเตรียมการรับแรงงานต่างด้าวผ่านพรมแดนจังหวัดมุกดาหาร ว่าเรามีความพร้อมและเตรียมการป้องกันทั้งในเรื่องของโควิค-19 การจัดเตรียมสถานที่กักกันแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวที่จะเดินทางผ่านเข้ามาทางสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) อย่างไร
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ในส่วนของการคาดการณ์จำนวนแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวที่จะเดินทางข้ามพรมแดนผ่านสะพานมิตรภาพ 2 มาที่จังหวัดมุกดาหารได้มีการคำนวณไว้น่าจะมีจำนวนประมาณ 10,000 คน โดยคิดจากฐานแรงงานที่ก่อนหน้านี้ได้เดินทางกลับ สปป.ลาว ผ่านทางด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ 2 จังหวัดมุกดาหารประมาณ 20,000 กว่าคน แต่เมื่อทางด่านพรมแดนจังหวัดหนองคายเริ่มเปิดการนำเข้าแรงงานก่อน จึงได้คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานส่วนหนึ่งจะใช้ช่องทางเดินทางไปข้ามด่านพรมแดนทางจังหวัดหนองคายที่เปิดก่อน ขณะที่ด่านพรมแดนมุกดาหารซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มเปิดการนำเข้าแรงงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ก็คาดว่าจะเหลือจำนวนแรงงานที่ผ่านเข้ามาทางด่านพรมแดนจังหวัดมุกดาหารประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนงานที่กลับออกไปก่อนหน้านี้หรืออาจจะน้อยกว่าก็ได้
นายเฉลิมพล กล่าวต่อไปว่า แรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทางด่านพรมแดนจังหวัดมุกดาหารจะต้องมีเอกสารแสดงว่าผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK หรือ RT-PCR แล้วไม่พบการติดเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง และเมื่อมาถึงด่านพรมแดนมุกดาหารก็จะมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านพรมแดนทำการตรวจหาเชื้อแบบ ATK ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งหากพบเชื้อก็จะส่งตัวแรงงานคนดังกล่าวกลับประเทศทันที แต่หากไม่พบเชื้อก็จะอนุญาตให้นายจ้างนำแรงงานเดินทางไปเข้าพักในสถานที่กักตัวพร้อมทั้งตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของสถานที่กักตัวทางจังหวัดมีนโยบายใช้โรงแรมของภาคเอกชนในจังหวัดเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกในการพักอาศัยตลอดจนการจัดเตรียมอาหารให้ผู้ถูกกักตัวรับประทาน
นายวีรเดช พลสวัสดิ์ จัดหางานจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า นำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ผ่านด่านพรมแดนจังหวัดมุกดาหาร มีขั้นตอนที่สำคัญเริ่มจากนายจ้างจะต้องยื่นแบบคําร้องขอนําคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (Demand) พร้อมเอกสารหลักฐาน โดยเริ่มยื่นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานจัดหางานจังหวัดมุกดาหารจะส่งค่าร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทาง โดยประเทศต้นทางจะดำเนินการรับสมัครคัดเลือก ทําสัญญาและจัดทําบัญชีรายชื่อ (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางาน นายจ้างยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวพร้อมเอกสารหลักฐานที่ศูนย์ OSS ได้แก่ บัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ประเทศต้นทางรับรอง หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกักตัว หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ราชการกำหนด หลักฐานยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว และประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย 4 เดือน พร้อมกับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน (กรณีเข้าประกันสังคม)
จากนั้น กรมการจัดหางานจะมีหนังสือไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง เพื่อพิจารณาตรวจลงตราวิชา (Non-Immigrant L-A) ให้แก่ คนต่างด้าว และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าตามจำนวนสถานที่ รองรับในการกักตัว ความพร้อมของนายจ้างที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรก
เมื่อคนต่างด้าว เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานจัดหางาน และสำนักงานสาธารณสุข จะร่วมกันตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ดังนี้
1 หนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงานพร้อมบัญชีรายชื่อ
2 ผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา
3 หลักฐานการได้รับวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายไทยหรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือไปรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วงไม่เกิน 6 เดือน (ถ้ามี)
4 ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 2 ปี
5 เดินทางไปยังสถานที่กักตัวโดยยานพาหนะที่แจ้งไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองควบคุมยานพาหนะในระหว่างรับคต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว เพื่อป้องกันการหลบหนี ระหว่างอยู่บนยานพาหนะ
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลคู่สัญญาจะดำเนินการตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ณ สถานที่กักตัว หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หากไม่พบว่าเป็นโรคต้องห้ามก็จะเข้ารับการกักตัวและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ภายใน 2 วันสุดท้ายของการกลับตัวส่วนแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนแล้ว 1 เข็มกรณียังไม่ครบกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะฉีดวัคซีนให้ตามวันที่กำหนดกรณีครบกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในสถานที่กักตัวคนต่างด้าวจะได้รับวัคซีนภายใน 2 วันสุดท้ายของการกักตัวทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะเฝ้าระวังในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่คนต่างด้าวอยู่ในสถานที่กักตัวเพื่อป้องกันการหลบหนีระหว่างอยู่สถานที่กักตัว
ด้วยมาตรการที่มีการตรวจและป้องกันแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทยอย่างเข้มงวดในทุกกระบวนการขั้นตอนดังกล่าว นอกจากผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากแรงงานแล้วเชื่อว่าชาวมุกดาหารและประชาชนทั่วไปจะมีความสบายใจและคลาดความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนที่เกี่ยวกับกานำเข้าแรงงานต่างด้าวด้วย” นายวีรเดช กล่าว