"ซิโนแวค" เข็ม 3 มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเว้นหลายเดือนจากเข็ม 2
ผลวิจัยล่าสุดชี้ "ซิโนแวค" เข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 มากขึ้น หากเว้นห่างหลายเดือนจากเข็ม 2
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า การเว้นระยะเวลาที่นานขึ้นระหว่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้นนั้น จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่าการเว้นระยะเวลาที่สั้นลง
บรรดานักวิจัยจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค, มหาวิทยาลัยฟูตันในนครเซี่ยงไฮ้ และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระดับภูมิภาคหลายแห่ง ระบุว่า ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 (บูสเตอร์) หลังจากที่ได้รับเข็ม 2 ไปแล้วเป็นเวลา 8 เดือนนั้น มีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ภายใน 2 เดือนหลังจากที่ได้รับเข็มที่ 2
ขณะที่ผลวิจัยพบว่า หลังจากการฉีดวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ครบ 2 โดสแล้วเป็นเวลา 6 เดือนนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 ได้ลดลงอย่างมากนั้น การฉีดวัคซีนโดสที่ 3 หลังจากฉีดโดส 2 แล้วเป็นเวลา 8 เดือนนั้น ได้ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก
การวิจัยดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับประชาชน เนื่องจากมีการตรวจพบไวรัสโอมิครอน ซึ่งเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้น
ในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ได้ร่นระยะห่างระหว่างการฉีดเข็ม 2 กับเข็ม 3 ลงเหลือเพียง 3 เดือนนั้น ผลการวิจัยกลับระบุว่า การเร่งฉีดวัคซีนโดส 3 อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับวัคซีนเชื้อตายอย่างของซิโนแวค
ส่วนนายอูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอของบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ซึ่งผลิตวัคซีน mRNA ก็สนับสนุนกลยุทธ์การร่นระยะห่างของการฉีดวัคซีนเข็มสองกับเข็มบูสเตอร์
ถึงแม้ว่าวัคซีนซิโนแวคยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แต่กลับมีความสามารถน้อยกว่าในการป้องกันการติดเชื้อและการเกิดโรคที่แสดงอาการที่เกิดจากสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์เดลตา เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิด mRNA
ปัจจุบัน มีการใช้วัคซีนของซิโนแวคกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดทั่วโลก โดยมีการส่งมอบไปยังประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่แล้วราว 2,300 ล้านโดส และซิโนแวคกำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน
ดร.หวัง หัวชิง หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน กล่าวในการบรรยายสรุปเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วราว 38 ล้านคนทั่วประเทศจีน
ส่วนฮ่องกงได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมาให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงซึ่งได้รับวัคซีนของซิโนแวค โดยผลการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมายังบ่งชี้ด้วยว่า ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นได้รับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในระดับที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี