“คมนาคม - รฟท.” ยันไม่ปิดหัวลำโพง เพียงแค่ลดบทบาท ปรับปรุงพื้นที่รอบสถานี

“คมนาคม - รฟท.” ยันไม่ปิดหัวลำโพง เพียงแค่ลดบทบาท ปรับปรุงพื้นที่รอบสถานี

ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม ร่วมเวทีชี้แจงกรณีข่าวปิดหัวลำโพงที่มีออกมาต่อเนื่องก่อนหน้านี้ว่า เป็นการเข้าใจผิด และนำเสนอข่าวที่ผิดพลาด เพียงแค่ลดบทบาทลงมาเพื่อให้สถานีกลางบางซื่อ เป็นจุดเชื่อมต่อระบบรางหลักแทนเท่านั้น

วันที่ 14 ธันวาคม 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจและยูทูป โดยผู้ชมทางบ้านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ผ่านคิวอาร์โค้ด นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เหตุผลที่ต้องลดบทบาทหัวลำโพงลงนั้นเป็นเพราะกระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบ รฟม. โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาล เรื่องขนส่งมวลชนระบบราง พัฒนาศูนย์กลางคมนาคมขนส่งระบบรางตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ได้รับการสนับสนุนจากทุกรัฐบาล ให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่

 

กระทรวงคมนาคม นั้น เมื่อมีการขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จ รัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ทำงานให้สำเร็จโดยตนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งมีทั้งเรื่องการเดินรถ และการจัดการบริหาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีหน้าที่รับผิดชอบทำความเข้าใจกับประชาชน ดูแลเรื่องการเปลี่ยนผ่าน

“ประชุมมาแล้ว 7 ครั้ง ไม่เคยพูดเรื่องการปิดหัวลำโพง แค่ลดบทบาทไปอยู่ที่บางซื่อ เพื่อการบริหารจัดการ การเดินรถให้ง่ายขึ้นและเพื่อให้มีชุดเชื่อมต่อได้ง่ายในเรื่องของระบบราง ลดปัญหาการจราจรติดขัดจากปัญหารถไฟวิ่งเข้าออกในเมือง” นายสรพงศ์ กล่าว นอกจากนี้ยังมองว่าสถานีกลางบางซื่อ เป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ที่จะสร้างความภูมิใจระดับชาติ พร้อมยืนยันยังคงการเดินรถช่วงชานเมืองเข้าหัวลำโพงไว้ แต่ลดบทบาทเพราะการเชื่อมต่อที่สถานีกลางบางซื่อสามารถเชื่อมต่อขนส่งมวลชนได้สะดวกกว่าจากการปรับการเดินรถของ ขสมก. ให้เข้าไปยังสถานีกลางบางซื่อ

 

สำหรับอนาคตของสถานีหัวลำโพงมีการหารือกันว่าจะคงระบบรถไฟชานเมืองเอาไว้สำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง แต่บางกิจกรรมหรือบางหน่วยงาน เช่น การซ่อมบำรุง ก็อาจจะต้องย้ายไปที่บางซื่อ ทาง รฟท. เองก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับหัวลำโพงต่อไป

ด้าน นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องทุบหัวลำโพงที่สื่อเคยนำเสนอไปนั่นเป็นเฟคนิวส์ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการลดบทบาทโดยการลดจำนวนขบวนรถจาก 118 ขบวน เหลือ 22 ขบวน หรือ 1 ใน 5 ภายในเดือนธันวาคม นี้ เท่านั้น เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงถูกออกแบบมานานแล้ว อยู่ในแผนแม่บทมา 20 – 30 ปี มีการรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด นอกจากนี้ต้องการลดจุดตัดระหว่างรถไฟกับถนนทั้งหมดใน กทม. จำนวน 27 จุด โดยเทียบแล้วทั้งวัน มีการวิ่งตัดของรถไฟจำนวน 800 กว่าครั้ง

 

จากการรับฟังความคิดเห็นแล้ว กระทรวงคมนาคม มองว่า อาจต้องมีรถไฟบางขบวนที่ต้องเข้าหัวลำโพง จุดตัดหมดไป 86% ทำให้หัวลำโพงถูกลดบทบาท แต่ในอนาคตรถชานเมืองจะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเข้าหัวลำโพงแทน คนที่เข้าหัวลำโพงปัจจุบันกระทรวงมองว่ายังมีความจำเป็น เพราะยังมีคนที่ใช้รถในชั่วโมงเร่งด่วนประมาณ 7,000 คน ส่วนพื้นที่บางส่วนก็จำปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และจุดจำหน่ายสินค้า และในปัจจุบันมีรถไฟฟ้ารองรับหลายสาย

 

สำหรับ นายอานันท์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รฟท. ชี้แจงว่า ในส่วนของ รฟท. มีส่วนงานของแต่ละฝ่ายค่อนข้างเยอะ มีการประชุมร่วมกันมาโดยตลอดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมทางหลวงชนบท ขสมก. ปัจจุบันสายสีแดงเปิดใช้บริการแล้ว ส่วนสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีขนาดใหญ่ ดำเนินงานร่วมกัน มีรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ รถไฟเชิงสังคม นอกจากนี้ยังถูกกำหนดมาให้เป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งระบบราง ก็จะเชื่อมต่อกับรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน รถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือรถไฟอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพราะหัวลำโพงยังมีข้อจำกัดหลายอย่างสำหรับการรองรับการพัฒนาในอนาคต

 

ในส่วนของอดีตผู้ว่าฯ รฟท. อย่างนายประภัสร์ จงสงวน มองว่าข่าวตอนแรกที่ออกมาค่อนข้างสับสน ทั้งเรื่องปิดสถานี ยกเลิกขบวนรถ การก่อสร้างพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะอาคารสูงด้านหลังสถานีหัวลำโพง พร้อมเรียกร้องให้ผู้ว่า รฟท. ออกมาชี้แจงถึงปัญหาด้วยตนเองไม่ควรหลบหน้าประชาชนหรือสื่อมวลชน ซึ่งควรกระทำตั้งแต่แรก ยืนยันว่าสถานีหัวลำโพงต้องมีอยู่ จนกว่าโครงข่ายของรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเสร็จสมบูรณ์

 

“การลดขบวนรถโดยที่อ้างว่าสถานีกลางบางซื่อเสร็จแล้ว แต่ปัญหาเรื่องสัญญาการเดินรถทำให้การเปิดเดินรถล่าช้ากว่ากำหนด ไม่เห็นด้วยกับการหยุดเดินรถสายยาว เพราะประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกมาก” นายประภัสร์ ระบุ รวมถึงยืนยันว่าไม่เห็นด้วยว่ารถไฟทำให้รถติดเพราะถนนเกิดทีหลัง อยากขอให้ทางกระทรวงพิจารณาใหม่ ปัญหารถติดไม่ได้แก้ด้วยการไม่มีทางกั้นรถไฟ

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์