เบื้องหลังรัฐบาลถอย "โครงการนิคมฯจะนะ" สั่งทำ SEA ก่อนเดินหน้าโครงการต่อ

เบื้องหลังรัฐบาลถอย "โครงการนิคมฯจะนะ" สั่งทำ SEA ก่อนเดินหน้าโครงการต่อ

รัฐบาลถอยโครงการฯจะนะ หลังถก ครม.รับขั้นตอนไม่ผ่านการดำเนินงานของหน่วยราชการ สั่งทำ SEA ก่อนเดินหน้าโครงการ มอบ กพต.เจ้าภาพหลัก ร่วม 3 ส่วนราชการ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย นายกฯสั่ง ดูแลปัญหาที่ดิน “สุพัฒนพงษ์”เชื่อชาวบ้านพอใจผลการหาทางออกของรัฐบาล 

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 ธ.ค.)เปิดเผยว่า ครม. มีการหารือกันในเรื่องทางออกของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ก้าวหน้าแห่งอนาคต นิคมอุตสาหกรรมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุมหลายข้อรวมทั้งให้ทบทวนกระบวนการโครงการเพิ่มการจัดทำผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หรือ SEA โดยที่ประชุมฯได้มีการรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านและยอมรับว่าโครงการนี้ไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามแนวทางการทำงานของรัฐบาลแต่ดำเนินการโดยภาคเอกชนเจ้าของโครงการ

 ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบในหลักการให้รับเอาข้อเสนอในการจัดทำ SEA เข้ามาในโครงการนี้ด้วย ทั้งนี้ในขั้นตอนที่จะมีการทำ SEA ของภาครัฐจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักและมีหน้าที่ตามกฎหมาย โดยให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) เป็นเจ้าภาพหลัก และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงานตามขั้นตอน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่างจากเดิมที่ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดูแลขั้นตอนต่างๆในโครงการนี้ 

ทั้งนี้ในการหารือกันใน ครม.มีการหยิบยกประเด็นการดำเนินงานในพื้นที่ขั้นตอนต่างๆซึ่ง ศอ.บต.ได้ให้เอกชนดำเนินการโดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่ภาครัฐกำหนดซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมไม่มากพอจึงต้องย้อนกลับไปทำกระบวนการต่างๆใหม่เพื่อให้สามารถทำ SEA ได้ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าการดำเนินการเฉพาะประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติม องค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 ตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 330/2564 โดยมอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการดังกล่าว และรับทราบข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการ ให้มีการจัดทำผลและแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้รับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ก่อนการเลิกประชุม ครม.นายสุพัฒนพงษ์ได้กล่าวว่าข้อเสนอที่เป็นทางออกของโครงการนี้คือต้องทำ SEA โดยมอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการทำ SEA ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วมร่วมในทุกมิติ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไป ซึ่งในขณะนี้โครงการในพื้นที่มีการเดินหน้าเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภค แต่ยังไม่ได้มีการเดินหน้าโครงการในส่วนอื่นๆ ซึ่งเมื่อ ครม.มีมติแบบนี้เท่ากับว่าต้องชะลอโครงการไว้ก่อนจนกว่าจะมีการทำ SEA แล้วเสร็จ 

 

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยข้อเรียกร้องของประชาชน โดยสั่งให้มีคณะกรรมการเฉพาะ เพื่อดูแลปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขข้อห่วงใยและความเดือดร้อนของประชาชน โดยเป้าหมายของโครงการฯ มุ่งสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ ให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น”นายธนกร กล่าว 

เบื้องหลังรัฐบาลถอย \"โครงการนิคมฯจะนะ\" สั่งทำ SEA ก่อนเดินหน้าโครงการต่อ

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังการประชุม ครม.ว่าภาครัฐจากจะรอผลการศึกษา SEA ว่ามีความชัดเจนอย่างไร ตรงนี้ก็น่าจะเป็นที่รับได้ และเหมาะสม และก็เป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว ส่วนที่ผู้ชุมนุมไม่พอใจก็ต้องคุยกัน ว่ายังไม่พอใจในข้อเสนอใดตนพยายามทำและคิดว่าน่าจะเป็นที่พึงพอใจและรับได้

"รัฐบาลทำเพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย และสร้างความยอมรับ ทั้งนี้ หากจำเป็น ก็ต้องออกไปเจรจากับผู้ชุมนุมอยู่แล้ว ไม่ได้ขัดข้องอะไร เพราะเมื่อวัน อาทิตย์ที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยกันไปรอบหนึ่งแล้ว" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าดูเหมือนว่าทางรัฐบาลจะยื้อเวลาไปเรื่อยๆ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ เพราะคิดว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน และมีข้อเสนอจากทุกฝ่ายซึ่ง มีทั้งข้อเสนอจากกลุ่มสนับสนุนและ ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราต้องรับไปพิจารณาทั้งหมด และสิ่งที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้อง เหมาะสม ซึ่งทางคณะกรรมการในความเป็นจริงก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่อาจจะยังสื่อสารไม่ครบถ้วน เนื่องจากเรื่องนี้มีรายละเอียดมาก และยังมีรายละเอียดด้วยว่าจะต้องไปดำเนินการต่ออย่างไร

โดยเฉพาะในเรื่อง SEA หรือ การจัดให้มีการศึกษาผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม ที่ได้มีการพูดคุยในหลักการ ว่าจะดำเนินการซึ่งผู้ชุมนุมได้ร้องขอ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกันและจะได้ไปดำเนินการต่อ เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ เพียงแต่ว่าใคร หน่วยงานใด เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ หรือจะเป็นการทำงานร่วมกันในหลายๆหน่วยงาน ช่วยกันทำเพื่อให้เกิดความมั่นใจ คิดว่าน่าจะเป็นที่ยอมรับ