เช็คก่อนใช้! อย. เตือนเครื่องสำอางหมดอายุ เสี่ยงจุลินทรีย์ปนเปื้อน
เช็คก่อนใช้! อย. เตือนเครื่องสำอางหมดอายุ เสี่ยงจุลินทรีย์ปนเปื้อน เสี่ยงอันตราย แนะเลือกซื้อสินค้าจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือ มีฉลากภาษาไทยครบถ้วน
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.64 ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีพบมีการขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหมดอายุทางออนไลน์นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความเป็นห่วงต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากการซื้อของทางออนไลน์ผู้สั่งซื้อไม่สามารถเห็นสภาพของสินค้าจริงก่อนซื้อ จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือและให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากซึ่งจะต้องปรากฏข้อความที่จำเป็นแสดงเป็นภาษาไทยให้ถี่ถ้วน ได้แก่
- เลขที่ใบรับจดแจ้ง
- ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า
- ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง
- ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม
- วิธีใช้
- ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
- ปริมาณสุทธิ
- ครั้งที่ผลิต
- เดือนปีที่ผลิต
- เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน)
- คำเตือน
ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่า เครื่องสำอางหมดอายุ หรือมีสี กลิ่น ที่เปลี่ยนไปหรือมีการแยกชั้นให้ส่งคืนผู้ขาย ไม่ควรนำมาใช้เพราะเครื่องสำอางอาจเสื่อมสภาพและมีความเสี่ยงที่มีจุลินทรีย์ปนเปื้อนซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ทั้งนี้ ผู้ขายเครื่องสำอางมีหน้าที่ตรวจสอบว่าเครื่องสำอางที่ขายได้รับการจดแจ้งอย่างถูกต้อง มีฉลากภาษาไทยที่แสดงข้อความอันจำเป็นครบถ้วน ถูกต้อง และที่สำคัญจะต้องไม่ขายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้ตามที่แสดงไว้ในฉลาก
หากตรวจพบผู้ขายจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐานขายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้ตามที่แสดงไว้ในฉลาก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากเป็นการกระทำของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม กล่าวในตอนท้ายว่า ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเท่านั้น ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นทางร้านค้าออนไลน์ด้วยความระมัดระวังด้วยเช่นกัน ก่อนซื้อให้ตรวจสอบร้านค้าว่ามีหลักแหล่งจริงน่าเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย
ตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาต
- เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th
- หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ แล้วพบข้อมูลตรงกับที่ปรากฏบนฉลาก หากพบผลิตภัณฑ์ที่สง
- สัยว่าผิดกฎหมายแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล [email protected] หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ