"กมธ.พัฒนาการเมืองฯ" ชี้ "ไพรมารีโหวต" ควรแก้ไข-ยึดโยงประชาชน-ปลอดแทรกแซง
กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภา เสนอรายงานการพัฒนาพรรคการเมือง ชี้ รธน.60 ให้พรรคตั้งยาก ยุบง่าย เสนอแก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปรับไพรมารีโหวต ด้าน "เสรี" ซัดนักการเมืองรุ่นใหม่ คิดปฏิรูปสถาบัน ทำไม่สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณา รายงานศึกษา เรื่องกาารพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ในประเด็นการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ส.ว. เป็นประธานกมธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานการศึกษาของกมธ.ฯ มีสาระสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งพรรคการเมืองได้ยาก ยุ่งยาก ซับซ้อน แต่ยุบง่าย และพบปัญหาการบริหารจัดการด้านการเงิน และการกิจกรรมทางการเมืองตามอุดมการณ์เพื่อตอบสนองประชาชน ที่อาจนำไปสู่การครอบงำและควบรวมพรรคเล็กกับพรรคใหญ่ และกลุ่มภายในพรรคทำให้มีความขัดแย้งขาดเอกภาพในเชิงอุดมการณ์ นอกจากนั้น พรรคการเมืองไม่สามารถตอบสนองและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เต็มศักยภาพ เพราะระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการศึกษา มี4 ประเด็น คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง, กระบวนการไพรมารีโหวต, การบริหารเงินและการตรวจสอบพรรคการเมือง และ บทบาทของพรรคการเมืองในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืงอของสมาชิกพรรคการเมือง
โดยในรายละเอียดของเนื้อหาว่าด้วยกระบวนการทำไพรมารีโหวต หรือ เลือกตั้งขั้นต้น ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 43, 45, 56, 57 พบปัญหาคือ มีค่าใช้จ่ายมาก ปฏิบัติยาก พรรคการเมืองไม่เข้าในกระบวนการ นอกจากนั้นพบว่ากระบวนการไพรมารีโหวตอาจขาดความเป็นอิสระ เพราะถูกแทรกแซงจากกรรมการบริหารพรรคและะนายทุน พร้อมเสนอให้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 48 , มาตรา 53, มาตรา 54 เพื่อให้การเลือกตั้งขั้นต้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ โดยให้ กกต. ใช้มาตรการกำกับดูแลและลงโทษอย่างเข้มงวด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ฯ ได้เสนอแนะวิธีแก้ปัญหา คือ แก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 47 ให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประะจำจังหวัดอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และขั้นตอนการเลือกตั้งขั้นต้นให้ที่ประชุมสาขาหรือตัวแทนพรรค ดำเนินการรับผิดชอบทั้งจังหวัดหรือภาค
ทั้งนี้การทำไพรมารีโหวตระยะแรก ควรกำหนดให้ทำในระดับจังหวัดก่อน ต่อไปพรรคการเมืองเป็นสถาบันมากขึ้น อาจกระจายไปสู่เขตเลือกตั้ง
สำหรับไพรมารีโหวตที่มีปัญหากับพรรคการเมือง หากจะปรับควรทำประชามติสำรวจอุปสรรคและปัญหา พัฒนาแก้ไขระบบ เพื่อสะท้อนการเลือกผู้สมัครจากประชาชนที่แท้จริง ไม่ให้เกิดความลักลั่นระหว่างส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ควรทำไพรมารีโหวตต้องยึดโยงประชาชนในพื้นที่ และปรับสัดส่วนที่เหมาะสม ระหว่างผู้ลงคะแนนในพื้นที่ กับ ความต้องการของพรรคการเมือง โดยอาจใช้หลากหลายวิธี ผสมผสานกัน โดยขึ้นอยู่กับศักยภาพและความเข้มแข็งของพรรคการเมือง
ทั้งนี้ในตอนท้ายของการอภิปราย นายเสรี ชี้แจงว่า การพัฒนาการเมืองให้ดีนักการเมืองต้องเข้าใจบทบาทของตนเอง ไม่ใช่หมกมุ่นกับม็อบ หรือ เรียกร้องให้มีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ซึ่งประชาชนเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ แต่สร้างความแตกแยกให้กับประชาชน
“การสร้างกลไกการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นประโยชน์ นักการเมืองยุคปัจจุบันที่หลงว่าเป็นคนรุ่นใหม่ และต้องการเปลี่ยนแปลง เขาจะทำไม่สำเร็จ นักการเมืองที่ใช้กลไกนอกสภาฯ เรียกร้องสิ่งไม่เกิดประโยชน์ คือ การทำผิดกฎหมายอย่างรุนแรงและจะถูกลงโทษทางกฎหมายและดำเนินคดี นักการเมืองที่ดี มีคุณภาพต้องรักษาประโยชน์ประชาชนทั่วประเทศและดูแลสิทธิ เสรีภาพของเยาวชน หากเข้าใจจะไม่สร้างภาระให้ประเทศและไม่ทำให้เด็กถูกดำเนินคดี” นายเสรี กล่าว.