“ชัยวุฒิ” เดินหน้าเร่งประสานรัฐ-เอกชน ยกระดับมาตรฐานป้องเว็บหลอกลวง
“ชัยวุฒิ” ผนึกตำรวจ ประสานกูเกิล และเว็บด้านการลงทุนเทรดคริปโตที่ ก.ล.ต.ให้การรับรอง ดันยกระดับมาตรฐานป้องกันเว็บหลอกลวงเหยื่อผ่านออนไลน์/โซเชียล พร้อมประสานแบงก์ชาติ-สมาคมธนาคารไทย หาแนวทางกำจัดบัญชีม้า หวังตัดตอนปัญหาเว็บเงินกู้เถื่อน และมิจฉาชีพออนไลน์
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 64 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้รับการประสานจากนางแน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) นำตัวผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนเรื่องการถูกโกงออนไลน์ทั้งจากการถูกหลอกลวงลงทุนเงินคริปโต และเว็บไซต์เงินกู้เถื่อน ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับเรื่อง และจะร่วมกับตำรวจ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งปิดกั้น และ take down เว็บไซต์เหล่านั้น ตลอดจนติดตามขบวนการผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ เพื่อให้ก้าวทันกับการหลอกหลวงในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะปัญหาเว็บหลอกให้ลงทุนในเงินดิจิทัล (คริปโต) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กระทรวงฯ และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อยู่ระหว่างการประสานกับกูเกิล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ search engine รวมทั้งเว็บด้านการลงทุนเทรดคริปโต ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วมากกว่า 10 ราย เพื่อหารือชี้แจงข้อกำหนดร่วมกันในการสร้างมาตรฐานให้สูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเมื่อคลิก log-in เข้ามาในเว็บเหล่านี้แล้วจะไม่ถูกหลอกลวง
เนื่องจากปัจจุบัน เว็บเสมือน (Virtual Web) ซึ่งเป็นเว็บหลอกของพวกมิจฉาชีพออนไลน์ จะมีการตั้งชื่อเหมือนหรือชื่อคล้ายกับเว็บลงทุนจริงที่ ก.ล.ต. ให้การรับรอง จากนั้นเว็บของมิจฉาชีพ จะใช้วิธีการเข้าไปซื้อโฆษณาของกูเกิล เพื่อให้แสดงผลเป็นอันดับแรก ดังนั้นเมื่อมีการค้นหาข้อมูลเว็บที่ต้องการ เว็บหลอกพวกนี้ก็จะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เพราะชื่อคล้ายกัน ถ้าใครหลงคลิกเข้าไป เว็บปลอมเหล่านั้นจะเก็บ log ชื่อล็อกอินและรหัสผ่านของเหยื่อ และนำเข้าไปจัดการบัญชีของบุคคลนั้นๆ ที่อยู่ในเว็บจริงเพื่อโอนเงินออกไปที่อื่น
ขณะที่ การร่วมหารือกับเว็บเพจด้านการซื้อขายการลงทุนที่ ก.ล.ต. รับรอง อาจมีการตั้งข้อกำหนดให้การใช้วิธีการเข้ารหัส หรือใช้ระบบ face detection เพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าถึงต่อไป
“กำลังประสานกับกูเกิลและเว็บไซต์ต่างๆ ด้านนี้เพื่อมิให้มีเว็บที่หลอกลวงประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าระบบอินเทอร์เน็ต/โซเชียลมีเดียเป็นระบบเปิด ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือ ประชาชนถ้าจะเข้าไปเว็บไซต์ไหนที่เป็นการลงทุนต้องระมัดระวัง ดูตัวสะกดยูอาร์แอล/ชื่อเว็บไซต์อย่างรอบคอบ เพราะเว็บหลอกอาจมีการเพิ่มตัวอักษรไว้ท้ายชื่อเหมือน และควรเข้าเฉพาะเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ขอให้ตระหนักว่าหากไม่รู้จักตัวตนกันจริงๆ ก็เป็นการหลอกลวงทั้งนั้น” นายชัยวุฒิกล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของปัญหาเว็บเงินกู้ออนไลน์ ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้รับข้อร้องเรียนและมีการ take down อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการเปิดใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้น อยากฝากเครือข่ายภาคประชาชนให้ช่วยแจ้งเตือนประชาชนด้วย ขณะที่ ในส่วนของกระทรวงฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้คือ การประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เกี่ยวกับเรื่องบัญชีม้า เพราะเป็นปัญหาใหญ่ จุดเริ่มต้นของมิจฉาชีพคือ การใช้บัญชีปลอมในการโอนเงิน และเอาเงินไปใช้ ถ้าสามารถกำจัดเรื่องบัญชีม้าได้ ก็จะลดปัญหาเรื่องการหลอกลวงทางออนไลน์ได้อย่างมาก
นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันโลกดิจิทัล ทำให้มีการปลอมแปลงและหลอกลวงกันได้ง่าย และการหลอกลวงออนไลน์เป็นปัญหาของสังคมไทยยุคนี้ เพราะโซเชียลไม่รู้จักตัวตน พร้อมทั้งอยากใหเเป็นอุทาหรณ์ว่าเวลาติดต่อใครในโลกออนไลน์/โซเชียลมีเดีย อย่าไปเชื่อ ถ้ามีการโอนเงินจะไม่ได้คืน เพราะมิจฉาชีพมักใช้ความกลัวและความโลภมาหลอกลวงให้ตกเป็นเหยื่อ