เปิดไทม์ไลน์ "เลือกตั้งซ่อม" 7 สนามล่าสุด สรุปพรรคไหนเข้าวินชนะเลือกตั้ง
เปิดไทม์ไลน์ "เลือกตั้งซ่อม" 5 ครั้งหลังสุด ตั้งแต่ 24 มี.ค.2562 พร้อมจับตาเลือกตั้งซ่อมอีก 2 เขต"สงขลา-ชุมพร" วันเดียวกันต้นปี 65
จากมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จังหวัดชุมพรเขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลง เมื่อชื่อ "ชุมพล จุลใส" อดีต ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ และ "ถาวร เสนเนียม" อดีต ส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ มีคำพิพากษาคดีการชุมนุมเมื่อ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ "กกต." ได้กำหนดให้วันและเวลาในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง "2 เขต" พร้อมกันในวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.2565 เวลา 08.00-17.00 น. ส่วนวันรับสมัครรับเลือกตั้งนั้น ตั้งแต่วันที่ 23-27 ธ.ค.2564 เวลา 08.30 น.-16.30 น. ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด
สำหรับการเลือกตั้งซ่อม "ชุมพร-สงขลา" ถือเป็นการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 6 และ 7 ของสภาชุดนี้ตั้งแต่ผ่านการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่24 มี.ค.2562 แต่หากย้อนไปตั้งแต่ปลายปี 2552 ที่ผ่านมา กกต.ได้จัดเลือกตั้งซ่อมมาแล้วถึง 5 เขตเลือกตั้ง โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมได้ดังนี้
เชียงใหม่ เขต 8
เป็นสนามเลือกตั้งซ่อมครั้งแรก ภายหลังผ่านการเลือกตั้งใหญ่เพียง 3 เดือน โดยในกรณีนี้ กกต.ได้แจกใบส้มให้นายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส.เขต 8 จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยขณะนั้น โดยนายสุรพลเป็นผู้ได้รับการคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ในอันดับที่ 1 ด้วยคะแนน 52,165 คะแนน
จากนั้นการเลือกตั้งซ่อมได้จัดขึ้นวันที่ 27 พ.ค.2562 โดยนางสาวศรีนวล บุญลือ จากพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 อยู่ที่75,891 คะแนน เอาชนะนายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้อันดับ 2 ที่ 27,861 คะแนน จากนั้นเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค "ศรีนวล" ได้ย้ายไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
สำหรับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในเขต 8 เชียงใหม่ วันที่ 27 พ.ค.2562 มีทั้งหมด 127,832 คน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 163,343 คน คิดเป็นร้อยละ 78 มีบัตรดีทั้งหมด 119,636 บัตร บัตรเสีย 6,916 บัตร และมีบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,280 บัตร
อ่านที่เกี่ยวข้อง : รู้จัก ‘ศรีนวล บุญลือ’ จากนักการเมืองท้องถิ่น สู่ ส.ส.เชียงใหม่
นครปฐม เขต 5
กลายเป็นสนามเลือกตั้งซ่อมที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากเชียงใหม่ เขต 8 โดยกรณีนี้นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เขต 5 นครปฐม ได้ยื่นหนังสือลาออกเนื่องจากประสบอุบัติเหตุมีปัญหาสุขภาพ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.2562 เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (3)
กกต.ได้เลือกวันที่ 23 ต.ค.2562 เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซ่อม เขต 5 นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น แต่ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา เอาชนะเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 ได้สำเร็จด้วยเสียง37,675 คะแนน ส่วนอันดับ 2 เป็นของนายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร จากพรรคอนาคตใหม่ 28,216 คะแนน
ในส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 5 มีผู้มาใช้สิทธิ 91,043 คน จากจำนวน 143,542 คน คิดเป็น 63.43 % โดยมีบัตรดี87,424 บัตร คิดเป็น 96.03 % บัตรเสีย 1,623 บัตร คิดเป็น 1.78 % และบัตรไม่เลือกผู้สมัครใด 1,996 บัตร คิดเป็น 2.19 %
ขอนแก่น เขต 7
ถือเป็นการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 3 ในช่วงปี 2562 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2562 จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทยสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.เนื่องจากต้องคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิต
การเลือกตั้งซ่อมพื้นที่เขต 7 ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐได้ส่งนายสมศักดิ์ คุณเงิน ลงเลือกตั้งซ่อมและได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 ที่40,252 คะแนน เอาชนะพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทยที่ส่ง นายธนิก มาสีพิทักษ์ ซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งอยู่ที่ 38,010 คะแนน
ในเขต 7 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 81,063 คน จากทั้งหมด 132,063 คน คิดเป็น 61.38 % มีบัตรเสีย 1,680 คิดเป็น 2.07 % ไม่ประสงค์ลงคะแนน 815 คิดเป็น 1 %
กำแพงเพชร เขต 2
ถัดมาเพียง 2 เดือน กกต.ได้จัดเลือกตั้งซ่อมอีดครั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.กำแพงเพชร จากกรณีศาลจังหวัดพัทยา มีคำพิพากษาคดีที่แกนนำ นปช.บุกรุกไปยังโรงแรมรอยัลคลิฟ บีช พัทยา เพื่อขัดขวางการประชุมอาเซียน ซัมมิต เมื่อปี 2552 ตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำ นปช. โดยได้จำคุก พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชรพรรคพลังประชารัฐ จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 4 ปีและปรับ 200 บาท โดยไม่รอลงอาญา
จากนั้น กกต.ได้เลือกวันที่ 23 ก.พ.2563 เป็นวันเลือกตั้งซ่อม โดยพรรคพลังประชารัฐเจ้าของพื้นที่ ได้ส่งชื่อนายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ลูกชาย พ.ต.ท.ไวพจน์ ลงเลือกตั้งซ่อมและได้คะแนนมาอันดับ 1 อยู่ที่ 45,687 คะแนน เอาชนะนายกัมพล ปัญกุลจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เสียงอยู่ที่ 37,989 คะแนน
การเลือกตั้งซ่อมเขต 2 มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 90,060 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 144,579 คน คิดเป็น 62.29 % บัตรดี 84,779 ใบคิดเป็น 94.14 % บัตรเสีย 2,800 ใบ คิดเป็น 3.11 % ไม่ประสงค์สงคะแนน 2,481 ใบ คิดเป็น 2.75 %
นครศรีธรรมราช เขต 3
เป็นการเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562 จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พ้นจากความเป็น ส.ส. ในกรณีที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายเทพไท 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ในคดีการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.
สำหรับการเลือกตั้งซ่อมพื้นที่เขต 3 นครศรีธรรมราช กกต.ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2564 โดยแชมป์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งนายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ น้องชายนายเทพไทลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งชื่อ นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ลงเลือกตั้ง โดยผลการลงคะแนนเสียง "อาญาสิทธิ์" ได้อันดับที่ 1 ที่ 48,701 คะแนน เอาชนะ "พงศ์สินธุ์" อันดับ 2 ซึ่งได้เสียงเลือกตั้ง44,632 คะแนน และลำดับที่ 3 นายสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ ผู้สมัครหมายเลข 1 จากพรรคกล้า ได้ 6,216 คะแนน
การเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 105,468 คน จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 152,020 คน คิดเป็น 69.38 % โดยมีบัตรดี 101,851 ใบ บัตรเสีย 1,752 ใบ และผู้ไม่ออกเสียงเลือกผู้ใด 1,865 ใบ
สำหรับจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฏรปัจจุบัน (21 ธ.ค.64) มีทั้งหมด 476 คน แบ่งเป็น ส.ส.รัฐบาล 265 คน และส.ส.ฝ่ายค้าน 211 คน สามารถแบ่ง เป็น ส.ส.แต่ละพรรคได้ ดังนี้
ส.ส.รัฐบาล 265 คน
พรรคพลังประชารัฐ 116 คน
พรรคภูมิใจไทย 59 คน
พรรคประชาธิปัตย์ 46 คน
พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน
พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน
พรรคชาติพัฒนา 4 คน
พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน
พรรคพลังท้องถิ่นไทย 5 คน
พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน
พรรคเล็ก 9 พรรค 9 คน
พรรคก้าวไกล (งูเห่า) 5 คน
พรรคประชาชาติ (อนุมัติ ซูสารอ) 1 คน
ส.ส.ฝ่ายค้าน 211 คน
พรรคเพื่อไทย 134 คน
พรรคก้าวไกล 48 คน
พรรคเสรีรวมไทย 10 คน
พรรคประชาชาติ 7 คน
พรรคเศรษฐกิจใหม่ (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์) 1 คน
พรรคเพื่อชาติ 5 คน
พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน
พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน