เปิดผลสำรวจผู้บริหาร "พร้อมหรือไม่กับเป้าหมาย Net Zero"

เปิดผลสำรวจผู้บริหาร "พร้อมหรือไม่กับเป้าหมาย Net Zero"

ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ FTI Poll ความพร้อมผู้บริหารการดำเนินธุรกิจบรรลุ Net Zero ภายใน 2065 เผยเห็นด้วย 70.7% ระบุโครงสร้างพลังงานและการจัดหาพลังงานสะอาดให้พอต่อความต้องการเป็นประเด็นท้าทาย ชี้ต้องปรับตัวเพื่อโอกาสใหม่

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 13 ในเดือนธันวาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “พร้อมหรือไม่ กับเป้าหมาย Net Zero” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. เห็นด้วยกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 

โดยมองว่า การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการจัดหาพลังงานสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล จะเป็นประเด็นท้าทายของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้ ระเบียบวิธีการที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ 

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 160 ท่านครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 13 จำนวน 7 คำถาม ดังนี้

1. ภาคอุตสาหกรรมมีความเห็นอย่างไรกับเป้าหมายของประเทศ ในการเป็น Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 พบว่า  70.7% เห็นด้วย ในขณะที่ 16.2% ควรขยายเวลาเป้าหมายออกไป 5-10 ปี  และ 13.1% ควรปรับเป้าให้เร็วขึ้น 

2. ภาคอุตสาหกรรมมีความพร้อมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตหรือไม่ เพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ Carbon Neutrality พบว่า 72.5% อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล 17.5% มีความพร้อมดำเนินการทันที และ 10% ยังไม่มีความพร้อม

 

3. ปัจจัยใดจะช่วยส่งเสริมให้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการเป็น Carbon Neutrality พบว่าผู้บริหารให้ความสำคัญกับระเบียบวิธีการที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศและไม่ซับซ้อน 73.1% การใช้มาตรการหรือสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เช่น มาตรการด้านการเงิน  72.5% นอกจากนี้ การพัฒนากลไกตลาดและมาตรฐานการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล 68.1% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอยู่ในระดับที่เหมาะสม 66.9%

4. ประเด็นท้าทายของไทยในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero พบว่า การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการจัดหาพลังงานสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นประเด็นที่ท้าทาย 75.0% รองลงมาคือ นโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการจูงใจที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 72.5% การเทคโนโลยี/นวัตกรรมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเทคโนโลยีกักเก็บและการนำคาร์บอนไปใช้ประโยชน์ (CCUS) ที่มีราคาเหมาะสม 66.9% และการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักของผู้บริโภคเพื่อให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 62.5%

5.ภาคส่วนใดที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero พบว่าเป็น ภาคพลังงานและขนส่ง 50.0% ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 29.4% ภาคการจัดการของเสีย 11.3% และภาคเกษตรกรรม 9.3%

6.ภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวมากน้อยเพียงใด จากเป้าหมาย Net Zero ระบุว่า ต้องปรับตัวเพราะเป็นโอกาสทางธุรกิจ 55.0% ต้องปรับตัวบ้าง 24.4% และต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง 20.6%

7. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อการปฏิบัติตามมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเรื่องใด พบว่ากังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 68.8% ต้นทุนทางการเงินในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อย GHG และราคาพลังงานทดแทนอาจสูงขึ้น 68.8% มาตรการและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น CBAM, การติดฉลากคาร์บอน 59.4% และมาตรฐานการคำนวณและรับรองคาร์บอนเครดิตที่มีความแตกต่างกัน 51.2%
เปิดผลสำรวจผู้บริหาร \"พร้อมหรือไม่กับเป้าหมาย Net Zero\"