“สิระ” พ้น ส.ส.ศาล รธน.ข้างมาก 7:2 ชี้เคยต้องคำพิพากษา-ติดคุกคดีฉ้อโกง
“สิระ เจนจาคะ” พ้นตำแหน่ง ส.ส.! “ศาล รธน.” เสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ชี้เคยต้องคำพิพากษาศาลแขวงปทุมวันเมื่อปี 38 จำคุก 5 เดือนจริง ฐานฉ้อโกง กระทำโดยทุจริต มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 82 วรรคสองและมีคำสั่งยกคำขอให้ นายสิระหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ต่อมาผู้ร้องยื่นคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหา และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไว้ในสำนวน และให้หน่วยงานและพยานที่เกี่ยวข้องชี้แจงตามที่ศาลกำหนด พร้อมจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ มีนายทิวา การกระสัง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายสิระ เจนจาคะ ผู้ถูกร้องมาศาลแทน โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสิระ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) ประกอบมาตรา 101 (6) เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสิระ ถูกศาลแขวงปทุมวันพิพากษาเมื่อปี 2538 จำคุกจริง จำนวน 4 เดือน และผู้เสียหายไม่เคยยอมความ หรือถอนคำร้องทุกข์คดีอันเป็นเหตุให้ศาลแขวงปทุมวันได้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความภายในระยะเวลาอุทธรณ์ เช่นนี้คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ผู้ถูกร้องจึงเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อผู้ถูกร้องเคยถูกคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายสิระสิ้นสุดลงแล้ว สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. ที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ผู้นั้นสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว กล่าวคือ ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มิใช่ต้องไม่มีอยู่ในขณะรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องไม่มีตลอดระยะเวลาที่เป็น ส.ส. ด้วย
หาก ส.ส. ผู้นั้นมีเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติเป็นลักษณะต้องห้ามเมื่อใด ย่อมต้องทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. ผู้นั้นสิ้นสุดลงทันที ที่มีลักษณะต้องห้ามนั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามตั้งแต่วันที่ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. คือวันที่ 4 ก.พ. 2562 แล้ว แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 บัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง เช่นนี้ สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค. 2562
เมื่อผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ ส.ส. เขตว่างลง ต้องตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแทน ส.ส. ที่ว่างลง ภายใน 45 วันแต่วันที่ตำแหน่ง ส.ส. ว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 ทำให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบ คือนับแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า นายสิระ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ส่วนนายทิวา การกระสัง เคยเป็นทนายความของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบด้วย