รัฐบาล จัดงบขาดดุลฯ 4 ปี ประคองเศรษฐกิจฟื้นตัวจาก พิษโควิด
รัฐบาลเคาะแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 66 - 69 พบยังขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากคงมาตรการทางการคลัง พยุงการฟื้นตัวจากโควิด ในปี 2569 ขาดดุลงบสุงสุดถึง 7.36 แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งแผนมองการเติบโตจีดีพีสูงสุด 2.9 -4.2% เผยแผนคุมรายจ่ายภาครัฐไม่ให้เกิน 4%
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาโดยมีหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจทั่วประเทศรับฟัง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในประเทศมีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนคืบหน้าทำให้ทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้ในปี 2565 ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 3.07 แสนล้านบาท และเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2565
ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องควบคู่ไปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
สำหรับการจัดทำคำของบประมาณปี 2566 ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาภายใต้ 13 หมุดหมาย ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงต่างที่อาจกระทบรุนแรง
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ธ.ค.2564 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) โดยมีรายละเอียดสำคัญคือในส่วนประมาณการเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2566-2569 คาดว่าจีดีพีขยายตัว 2.8-4.2%
ปี 2566 จีดีพีจะขยายตัว 3.2-4.7% (ค่ากลาง 3.7%) ปี 2567 จีดีพีจะขยายตัว 2.9-3.9% (ค่ากลาง 3.4%) ส่วนปี 2568-2569 จีดีพีจะขยายตัว 2.8-3.8% (ค่ากลาง 3.3%)
ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงานว่าการจัดทำงบประมาณในระยะปานกลางมีความจำเป็น โดยต้องทำนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประชาชน ซึ่งผลต่อเนื่องถึงภาคการคลังทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลัง
นอกจากนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้การแพร่ระบาดกลับมารุนแรง ซึ่งภาครัฐอาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Global Megatrends) ที่จะกระทบการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิากาศ และโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะกระทบการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณ
สำหรับการคาดการณ์สถานะทางการคลังพบว่าปีงบประมาณ 2566-2569 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2566 จัดเก็บรายได้รัฐบาล 2.49 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท
ปีงบประมาณ 2567 จัดเก็บรายได้ 2.56 ล้านล้านบาท มีรายจ่าย 3.27 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 7.1 แสนล้านบาท
ปีงบประมาณ 2568 จัดเก็บรายได้ 2.72 ล้านล้านบาท มีรายจ่าย 3.36 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 7.23 แสนล้านบาท
ปีงบประมาณ 2569 จัดเก็บรายได้ 2.72 ล้านล้านบาท มีรายจ่าย 3.456 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 7.36 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การคาดการณ์รายรับรายจ่ายภาครัฐมาจากสมมติฐานสำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2.0-3.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วน 2.5-4.0% ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน 4.0% โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ"
นอกจากนี้ ครม.สั่งการด้วยว่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว รัฐบาลมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลัง