สกสว.จัดถกเอกชน ร่วมลงทุน “วิจัย” อุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ
สกสว. จับมือ ทีมวิจัย TIME Labs มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาโรดแมปวิจัยตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ ลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ คณะนักวิจัยและปฏิบัติการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TIME Labs) มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินการโครงการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ เร่งพัฒนาโรดแมปวิจัย รองรับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต (S-Curve) ของประเทศไทย ผ่านการสร้างเอกภาพทางวิชาการ สู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริงจัด ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี “โครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค 4.0” ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดทั้งจากห้อง เวิลด์บอลรูม โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานเปิดการประชุม
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่าฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สกสว.เดิม ที่มีพันธกิจในบริหารจัดการงานวิจัย ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่มุ่งสู่ยุค 4.0 (Thailand 4.0) ด้วย 10 อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต” (ดำเนินการในเดือน กรกฎาคม 2562 - กรกฎาคม 2565) เพื่อจัดทำแผนที่นำทางของ 10 อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต หรือ S-Curve โดยนำผลวิจัยมาใช้ใน การวางนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และเกิดโรดแมป ที่สามารถพัฒนาต่อยอดและใช้กำกับทิศทางนโยบายด้านวิจัย นวัตกรรม ของประเทศได้จริง
โดย ปัจจุบัน สกสว. ได้พัฒนาหลักเกณฑ์การประกาศแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Technology Roadmap, N-TRM) ไปด้วยในรูปแบบการดำเนินการคู่ขนาน และได้ดำเนินการออกประกาศโดย กสว. ไปแล้วในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อรองรับการผลักดันแผนที่นำทางเทคโนโลยีที่ได้จากโครงการนี้ เพื่อให้หน่วยงานในระบบ ววน. นำไปใช้งานต่อไป
ด้าน รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี ผู้อำนวยการชุดโครงการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ และหัวหน้าทีมวิจัยและปฏิบัติการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TIME Labs กล่าวถึง ความก้าวหน้าของโครงการและการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติว่า ทีมวิจัยทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลว่า สินค้า (Product) หรือบริการ (Service) ใดที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ และใครมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนั้น เป้าหมายของการทำงานครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการจัดทำโรดแมป แต่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รวมถึงการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ การจัดงานในวันนี้เป็นงานจัดประชุมเชิงปฏิบัติงานครั้งที่ 3 ของการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา ใน 6 อุตสาหกรรม S-Curve จากทั้งหมด 11 อุตสาหกรรม (เพิ่มเติมจากเดิมที่เป็น 10 อุตสาหกรรม) ประกอบด้วย
1. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 2. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 3. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 4. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (เพิ่มเติมสาขาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง) และ 6. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสองทางและความมั่นคง
ต่อมาในการประชุมวันนี้ ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “แนวทางการประยุกใช้แผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อ ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย
1. ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ ที่ปรึกษา สกสว. 2. คุณมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจียไต๋ จำกัด 3. คุณกัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหารบริษัททีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด 4. นายพีระวัฒน์ ทองคำ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรม ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ 5. พันเอก ศุภโชค สมรรคเสวี รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) 6. คุณมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) และ 7. คุณไกรสีห์ ผิวเกลี้ยง ประจำผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
โดยข้อสรุปสำคัญประการหนึ่งของเวทีเสวนาครั้งนี้คือ อุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรม มีจุดมุ่งเน้นของการพัฒนาที่แตกต่างกัน ในโรดแมปฉบับนี้มีบทวิเคราะห์ที่เป็นข้อมูลและไกด์ไลน์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแต่ละอุตสาหกรรมมาก แม้จะไม่ใช่การคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างแม่นยำ 100% เนื่องจากสถานการณ์จริงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ทั้งนี้ การนำโรดแมปไปใช้ให้เกิดประโยชน์สุงสุดได้ ทุกภาคส่วนต้องมองภาพอนาคตของประเทศไปในแนวทางเดียวกัน เป็น “ทีมไทยแลนด์” เหมือนกัน ผ่านการทำงานในรูปแบบของเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เน้นการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน เพื่อสร้างเข้มแข็งในอุตสาหกรรมของประเทศที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นฐานการผลิตแต่ผลักดันให้เราเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เองด้วย
นอกจากนี้ในช่วงบ่ายของการประชุมวันนี้ ทางคณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ จัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีของกลุ่มอุตสาหกรรม โดยจัดกิจกรรม Workshop แบ่งเป็นห้องย่อยตาม 6 อุตสาหกรรม โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากฟากอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยตรง ร่วมให้ข้อมูลความคิดเห็นสำคัญในการพัฒนาโรดแมปนี้