คมนาคมสู่สังคมไร้เงินสด ลุยระบบรถไฟฟ้าเริ่ม มี.ค.นี้
กระทรวงคมนาคมจุดพลุปี 2565 เดินหน้าพัฒนาระบบตั๋วร่วม ยกระดับบริการขนส่งสาธารณะสู่สังคมไร้เงินสด มี.ค.นี้เปิดใช้รถไฟฟ้าน้ำเงิน - ม่วง พร้อมหารือขยายขนส่งภาคเอกชน
ปี 2565 เป็นอีกปีที่คนไทยต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ สิ่งรอบตัวอย่างรวดเร็ว กระทรวงคมนาคมหนึ่งในผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชน ปีนี้ประกาศกร้าวว่าจะเป็นปีแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุถึงนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอบรับสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลง จากการลดการสัมผัส ลดการจ่ายเงินสด และทำให้การใช้ระบบขนส่งมวลชนสะดวก ว่องไว ลดปัญหาความแออัดของการเดินทางต่างๆ
โดยในปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ยกระดับระบบขนส่งรองรับเทคโนโลยีที่สามารถใช้บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) จ่ายค่าผ่านทางได้ นำร่องในส่วนของระบบทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 5 สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)
สำหรับขั้นตอนการใช้งาน EMV เพียงแค่ขับรถเข้าช่องเงินสด ลดกระจก และแตะบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless ซึ่ง กทพ.วางเป้าหมายว่าจะเพิ่มการใช้ระบบ EMV ทดแทนการชำระด้วยเงินสดทั้งหมดภายในระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งกระทรวงฯ ยังมีเป้าหมายจะพัฒนาระบบทางด่วนไปสู่ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow และระบบตั๋วร่วม ซึ่งใช้บัตรเพียงใบเดียวสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง และเรือโดยสาร
“ระบบ EMV จะช่วยอำนวยความสะดวก ชำระเงินค่าบริการต่างๆ ด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียว อย่างทางด่วนก็สามารถจ่ายค่าผ่านทาง มีความเร็วในการผ่านด่านกว่าการจ่ายเงินสดถึง 1 เท่า และหลีกเลี่ยงการสัมผัส ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รองรับสถานการณ์และปรับตัวในรูปแบบ New Normal เตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมดิจิทัล”
อย่างไรก็ดี ในปี 2565 กระทรวงฯ เตรียมขยายบริการ EMV ครอบคลุมในระบบขนส่งประเภทอื่นๆ ผ่านการพัฒนาระบบ EMV มาใช้เป็นระบบตั๋วร่วมในรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟชานเมือง สายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้ภายในเดือน มี.ค.2565
สำหรับระบบตั๋วร่วมที่ออกแบบอยู่นี้ กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และธนาคารกรุงไทย กำลังพัฒนาระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing หรือ ABT ซึ่งเป็นมาตรฐานทางเทคโนโลยีแบบการใช้บัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร วิธีการนี้เป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชี ซึ่งนำบัตรเครดิตชนิด EMV มาใช้เป็นตั๋วร่วมสำหรับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ
ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางก่อน แล้วชำระเงินภายหลังพร้อมรอบการชำระบัตรเครดิต เป็นระบบที่สามารถขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำ ทางระบบทางพิเศษ และเรือโดยสาร โดยปัจจุบันได้มีการใช้งานเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (MINE Smart Ferry) และรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป้าหมายในปี 2565 กระทรวงฯ จะขยายให้ครอบคลุมรถโดยสารของเอกชนร่วมบริการ
“ภาพของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของไทยสู่การรองรับสังคมดิจิทัล และสังคมไร้เงินสดนี้ จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2565 เมื่อนำร่องติดตั้งระบบตั๋วร่วมกับขนส่งมวลชนของภาครัฐแล้ว อนาคตจะขยายบริการดังกล่าวไปยังรถบบขนส่งของภาคเอกชน รวมไปถึงการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ระบบขนส่งในอนาคต หลังจากนี้จะต้องรองรับการใช้จ่ายด้วยระบบตั๋วร่วม เพื่อทำให้ประชาชนมีความสะดวก และลดการสัมผัส เป็นประเทศสังคมดิจิทัล”
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างผลักดันการจัดทำและทบทวนร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ อาทิ ด้านเทคนิค โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดทำระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ ABT กลาง ตามแนวทางการพัฒนาของระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงในช่วงแรก หลังจากนั้นให้โอนถ่ายระบบไปยังหน่วยงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมกลาง
ส่วนด้านอัตราค่าโดยสารและนโยบายอยู่ระหว่างศึกษา อาทิ เส้นทางที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่กำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคมจะต้องดำเนินการเจรจาการปรับใช้โครงสร้างอัตราตั๋วร่วม ส่วนสำหรับเส้นทางที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานให้พิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขสัญญา หรือการประมูลให้สอดคล้องกับโครงสร้างอัตราใหม่ และเส้นทางที่อยู่ระหว่างการวางแผนและการศึกษา ให้ดำเนินการปรับปรุงและพิจารณา การวิเคราะห์และวางแผนโครงการในอนาคต โดยคำนึงถึงโครงสร้างอัตราตั๋วร่วมเป็นหลัก