เช็ค! 10 ข้อต้องรู้ อาการ “โอมิครอน” รุนแรงแค่ไหน?
ชวนรู้ 10 อาการ “โอมิครอน” โควิดสายพันธุ์ที่กำลังระบาดหนักทั่วโลก มีความรุนแรงแค่ไหน? รวมถึงเกร็ดข้อมูลอื่นๆ ที่คนไทยต้องไม่มองข้าม!
“โอมิครอน” กลายเป็นโควิดสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ ล่าสุดวันนี้ (6 ม.ค.65 เวลา 08.30 น.) สธ. ได้ยกระดับสถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นระดับ 4 จากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงแบบก้าวกระโดดเกือบ 6,000 ราย จากเมื่อวาน 3,900 กว่าราย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับอาการ “โอมิครอน” ว่าหากติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงแค่ไหน พร้อมเกร็ดข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในระดับน่ากังวล (Variants of concern: VOC) มีรหัสไวรัสเป็น B.1.1.529 พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ ขณะนี้มีการระบาดลามไปถึง 57 ประเทศทั่วโลกแล้ว (ข้อมูลล่าสุด ธ.ค.64)
2. ผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ในขั้นต้นมักจะมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ไอ, จาม, เป็นไข้, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ, หายใจลำบาก และได้กลิ่นน้อยลง
3. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอัพเดตใหม่ปี 2565 ว่า อาการใหม่ของโอมิครอนที่สามารถพบได้เพิ่มเติมมีดังต่อไปนี้ เจ็บคอ, ปวดกล้ามเนื้อ, เหนื่อย, อ่อยเพลีย, ไอแห้ง และเหงื่อออกมากในเวลากลางคืน
4. โอมิครอนสามารถกลายพันธุ์ได้ถึง 50 ตำแหน่ง สามารถติดเชื้อไวรัสโควิดซ้ำได้ ไวรัสจะยึดกับเซลล์ของคนได้มากกว่า 10 จุด และยังสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดี
5. หากเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด หรือเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแล้ว เสี่ยงต่อการติดสายพันธุ์โอมิครอนได้โดยง่าย ควรระวังตนเองให้มาก
6. โอมิครอนสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจและหลอดลมได้ดีกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า แต่หากแพร่กระจายถึงขั้นลงปอด จะไม่ทำลายปอดเท่ากับเดลตา เพราะเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มักอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน
7. สายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าจะติดง่ายและพบการเสียชีวิตน้อย แต่อาจเกิด “ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19” (Long COVID) ตามหลังมาได้ โดยระบบการหายใจ หรือระบบอื่นๆ ของร่างกายอาจเปลี่ยนไปจากเดิม หรืออาจมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงในระยะยาว
8. หากได้รับวัคซีนชนิด mRNA 3 เข็มติดกัน (เช่น โมเดอร์นา หรือไฟเซอร์) จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโอมิครอนได้ถึง 60-70 %
9. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพสูง จำนวน 3 ชั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันโอมิครอนได้
10. ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ด้วยยา “ฟาวิพิราเวียร์” ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ใน 24-72 ชั่วโมง
-------------------------
อ้างอิง: ร.พ.ศิครินทร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), วิทยาลัยสาธารณสุขสถาบันมิลเคน มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์