กทม.เคาะ 5 หลักเกณฑ์รับผู้ป่วย "โควิด" เข้าระบบรักษาไม่เกิน 12 ชั่วโมง
กทม.เฝ้าระวังโควิด "โอมิครอน" ระบาดระลอกใหม่ เคาะ 5 หลักเกณฑ์ พร้อมขีดเส้นไม่เกิน 12 ชั่วโมง รับผู้ติดเชื้ออาการหนักเข้าระบบรักษา
วันที่ 13 ม.ค. จากการประชุมคณะอนุกรรมขับเคลื่อนการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 1/2565 เพื่อหารือแนวทางการกำกับ ติดตาม และประเมินผลมาตรการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ วานนี้โดยมี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม.(กทม.) เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ห้องรัตนโกสินทร์ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถติดเชื้อได้ง่ายมีผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาจำนวนเพิ่มขึ้น ในที่ประชุมจึงหารือถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิเในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงแนวทางการนำส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรรักษาโดยเร็วที่สุด
สำหรับประชาชนมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อเบื้องต้นสามารถตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลการตรวจออกมาเป็นบวกติดเชื้อให้ติดต่อสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทร. 1330 หรือไลน์ @สปสช จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินอาการหากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะให้ผู้ติดเชื้อทำ Home Isolation (HI) แยกกักและพักรักษาตัวที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดส่งสิ่งของ อุปกรณ์จำเป็น และเวชภัณฑ์ ภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้จะมีการตรวจประเมินสุขภาพด้วย Telemonitor ทุกวัน อาทิ วัดอุณหภูมิร่างกาย วัดความดัน วัดระดับออกซิเจนในเลือดหากผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำ HI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ที่ภาครัฐจัดไว้สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน แต่หากผู้ป่วยโควิดอาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้ แต่หากอาการรุนแรงหรือหนักขึ้นก็จะส่งต่อการรักษาไปยัง Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการต่อไป
ส่วนผู้ที่ได้รับการประเมินอาการแล้วมีอาการปานกลางหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการหนักขึ้น เจ้าหน้าที่ก็จะส่งเข้าระบบการรักษาHospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักตามอาการให้เร็วที่สุดิโดวเบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ซึ่งเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล จะดูจากอาการข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
1.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2.ค่า Oxygen saturation ต่ำกว่า 94%
3.หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที (ในผู้ใหญ่)
4.กลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมีอาการเปลี่ยนแปลง
5.สำหรับในเด็ก อาการข้อ 1-2 ร่วมกับอาการหายใจลําบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง