เร่งลดต้นทุนอาหารสัตว์ ร้อยละ10-15 พร้อมแก้ปุ๋ยแพงครบวงจร
"นราพัฒน์" ห่วงใยเกษตรกร ทุบโต๊ะเร่งลดต้นทุนอาหารสัตว์ร้อยละ10-15 พร้อมแก้ปุ๋ยแพงครบวงจร
นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคเหนือ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ปัจจุบัน เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรรวมไปถึงการลดผลกระทบต่อผู้บริโภค คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
ซึ่งเป็นคณะทำงานที่กระทรวงเกษตรและสกรณ์โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงนามคำสั่งแต่งขึ้น เพื่อดำเนินส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานระหว่าง ภาครัฐ และเอกชน จึงได้เร่งการขับเคลื่อนเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรทั้งระบบ ”
นายนราพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า โดยแผนงานเร่งด่วนที่กำลังเร่งดำเนินการ ได้แก่ การลดต้นทุนอาหารสัตว์ ได้สั่งการและมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมปศุสัตว์ร่วมส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ พร้อมปรับสูตรอาหารสัตว์ให้เหมาะสมเพื่อให้มีต้นทุนที่ลดลง อีกทั้งมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สร้างระบบซื้อขายตรงแบบ From Farm-to-farm เพื่อลดส่วนต่างจากการที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายชั้นและลดค่าขนส่งลง ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนได้ 10-15%
นายนราพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพ ได้กำหนดดำเนินการภายใต้แผนการบริหารจัดการปุ๋ยปี 2565-2569 มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ ทั่วถึง และใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ภาคเกษตรไทยมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงทางอาหาร
“ โดยมาตรการแก้ไขปัญหาแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ได้แก่ โครงการบริหารจัดการปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โครงการพัฒนาธุรกิจดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของธกส. โครงการลดราคาปุ๋ยที่ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยทางเลือก เช่นปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ ระยะกลาง ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโพแทชภายในประเทศ การเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซียและอื่น ๆ และระยะยาว เช่น การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย การเจรจากำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ร่วมกับประเทศมาเลเซียและจีน
ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพขึ้นหารือในระดับกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เพื่อเสนอแผนการดำเนินงานทั้งระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินการร่วมกันต่อไป” นายนราพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย