"มนัญญา" สั่งกรมวิชาการเกษตร เตรียมมาตรการรองรับ "ปลดล็อคกัญชา-กัญชง"

"มนัญญา" สั่งกรมวิชาการเกษตร เตรียมมาตรการรองรับ "ปลดล็อคกัญชา-กัญชง"

"มนัญญา" สั่งกรมวิชาการเกษตรเตรียมมาตรการรองรับ "ปลดล็อคกัญชา-กัญชง" ต้องไม่ส่งผลกระทบเกษตรกรที่จะปลูกในประเทศ พร้อมเดินหน้าวิจัย และพัฒนาพันธุ์พืชสกุลกัญชา รองรับความต้องการปลูกของเกษตรกร

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 65 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กัญชา และกัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5

ยกเว้นสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุลแคนาบิส ตั้งแต่ร้อยละ 0.2

โดยน้ำหนักยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมีข้อกังวลในหลายประเด็น จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมความพร้อมจัดทำมาตรการรองรับให้ครอบคลุมทุกมิติ ก่อนที่จะมีมติดังกล่าวออกมา

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่เป็นข้อกังวลเรื่องความพร้อมของเกษตรกรและพันธุ์พืชสกุลกัญชา ที่จะใช้ปลูกนั้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้รวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กัญชาพันธุ์พื้นเมืองของไทย และพันธุ์การค้าจากต่างประเทศรวม 87 แหล่งปลูก จำนวน 39 พันธุ์ ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะผลิตต้นพันธุ์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปปลูกได้อย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำคู่มือการปลูกพืชสกุลกัญชาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและครอบคลุมในทุกมิติเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรแล้ว และยังได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินจัดทำแผนที่ความเหมาะสมการปลูกพืชสกุลกัญชาในแปลงปลูกของประเทศไทยด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ที่ www.doa.go.th บนเมนู “กัญชง กัญชา”

\"มนัญญา\" สั่งกรมวิชาการเกษตร เตรียมมาตรการรองรับ \"ปลดล็อคกัญชา-กัญชง\"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรยังสนับสนุนการนำพันธุ์กัญชา กัญชงมาแจ้งขึ้นทะเบียนพันธุ์

ปัจจุบันมีพันธุ์กัญชาที่ได้หนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแล้ว จำนวน 5 พันธุ์ คือ

  1. อิสระ01
  2. หางกระรอกภูพานเอสที 1
  3. หางเสือสกลนครทีที 1
  4. ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1
  5. ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

กัญชง จำนวน 8 พันธุ์ คือ

  1. อาร์พีเอฟ 1
  2. อาร์พีเอฟ 2
  3. อาร์พีเอฟ 3
  4. อาร์พีเอฟ 4
  5. อาร์พีเอฟ 5
  6. อาร์พีเอฟ 6
  7. อาร์พีเอฟ 7
  8. อาร์พีเอฟ 8

รวมทั้งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดการตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์ของพืชสกุลแคนาบิส ที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

โดยกัญชากัญชงจะเป็นพืชที่สามารถนำพันธุ์ใหม่มายื่นขอจดทะเบียนรับความคุ้มครองได้ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักปรับปรุงพันธุ์วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชสกุลกัญชาให้มีความหลากหลายของพันธุ์มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร พร้อมกันนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้เปิดขอบข่ายการรับรองแหล่งผลิตพืชกัญชากัญชงตามมาตรฐาน GAP เพื่อรองรับการปลูกที่ปลอดภัย ในเกรดที่นำไปทำเป็นยา และสำหรับบริโภคได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ และช่อดอก พืชสกุลกัญชาจากต่างประเทศได้อย่างเสรีนั้น กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการทางกฎหมายที่กำกับดูแลการนำเข้า คือ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถประกาศให้พืชสกุลกัญชาเป็นสิ่งต้องห้ามได้

หากวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้วพบว่า ประเทศต้นทางมีศัตรูพืชที่ร้ายแรง ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำเข้าสิ่งต้องห้ามที่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแจ้งนำเข้าที่ด่าน พร้อมแนบใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการที่กำหนด 

พร้อมกับยังต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชาและกัญชงเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมการนำเข้า ส่งออก ขาย และรวบรวมจะต้องขออนุญาต และต้องไม่ใช่พืชดัดแปลงพันธุกรรม

นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดมาตรกรการนำเข้าตามมาตรฐานการผลิตพืชโดยทำข้อตกลงกับประเทศต้นทางพืชที่จะนำเข้าได้นั้นจะต้องมาจากแปลงปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP และผ่านการคัดบรรจุจากโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสุขอนามัยพืชตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีและศัตรูพืชมากับผลผลิต รวมทั้งเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะเป็นมาตรการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าเมล็ด ใบ และดอกกัญชาจากต่างประเทศเข้ามาได้อย่างเสรี.