"สุชาติ" สั่งช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง เหตุไฟไหม้ บ.ผลิตวัสดุโฟม อ.ไทรน้อย
"สุชาติ" ห่วงนายจ้าง ลูกจ้าง จากเหตุเพลิงไหม้บริษัทผลิตวัสดุโฟมกันกระแทก อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี สั่งหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอน และดูแลสิทธิประโยชน์ หากปิดกิจการบางส่วนชั่วคราว หรือเลิกจ้างลูกจ้าง
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีเหตุเพลิงไหม้ บริษัท เอนเจล โปรดัก จำกัด ที่ตั้งเลขที่ 99/8-9 หมู่ 6 ตำบลหนองเพรางาย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ประกอบกิจการผลิตโฟม พลาสติก บรรจุภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติก มีหน่วยงานดับเพลิงจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าดับเพลิงและสามารถควบคุมเพลิงไว้ โดยใช้เวลาหลายชั่วโมง เนื่องจากโรงงานผลิตวัสดุกันกระแทกจำพวกโฟม บับเบิ้ล ซองกันกระแทก ฉนวนกันกระแทก อีพีอีโฟม และพีพีบอร์ด ทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. ของคืนวันที่ 27 มกราคม 2565 เบื้องต้น พบผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 ราย ถูกไฟคลอกบริเวณใบหน้า แขน และลำตัว 1 ราย ได้นำส่งโรงพยาบาล อีก 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย และมีผู้สูญหาย 1 ราย ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ ลูกจ้างที่อยู่ในเหตุการณ์แจ้งว่าเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจากเครื่องจักรประกายไฟกระเด็นไปโดนโฟมและลุกลามประมาณ 10 นาที ก่อนเกิดการระเบิดเพราะมีถังแก๊ซด้านใน กระทรวงแรงงานมีความห่วงใยในความปลอดภัย ชีวิต และทรัพย์สินของนายจ้างและลูกจ้างจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุเบื้องต้น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเข้าช่วยเหลือในเรื่องของการประสานดูแลรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
ทั้งด้านคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม รวมทั้งกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จัดหาตำแหน่งงานว่างและเสริมทักษะการทำงานให้แก่ลูกจ้างหากมีการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว หรือเลิกจ้างลูกจ้าง
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานประกอบกิจการแห่งนี้มีลูกจ้างรวม 349 คน เป็นคนไทย 182 คน เมียนม่า 116 คน กัมพูชา 42 คน และอินเดีย 9 คน บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้เป็นโกดังส่วนผลิตและเป็นส่วนออฟฟิต แบ่งการทำงานเป็นกะ ทำงาน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ กรมได้ส่งพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจความปลอดภัยลงพื้นที่ พูดคุยชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานและความช่วยเหลือในเบื้องต้นกับนายจ้างและลูกจ้าง และได้เชิญนายจ้างเข้าพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงว่าสถานประกอบกิจการได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 8 ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 หรือไม่
พร้อมทั้งดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้างหากสถานประกอบกิจการขอหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน