รฟท. รับมอบ “รถจักรดีเซลไฟฟ้า” ระยะแรก 20 คัน
การรถไฟฯ ประเดิมรับมอบ หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ รองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะเปิดใช้งานในอนาคต
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สถานีรถไฟศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีรับมอบ "รถจักรดีเซลไฟฟ้า" (Diesel Electric Locomotive) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน จากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยมีคณะผู้บริหารการรถไฟฯ หน่วยงานภาคเอกชน คณะสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรับมอบ "รถจักรดีเซลไฟฟ้า" (Diesel Electric Locomotive) ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน เป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการและสร้างรายได้ของการรถไฟฯ
โดยถือเป็น"รถจักรดีเซลไฟฟ้า" รุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ผู้ผลิตรถจักรดีเซลชั้นนำของประเทศจีน และมีเครื่องยนต์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน และบางคันมีการใช้งานมากกว่า 50 ปี จึงถือเป็นการพลิกโฉมการการให้บริการครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง การได้มาซึ่งหัวรถจักรในครั้งนี้ จะช่วยให้การรถไฟฯ มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มากขึ้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ทยอยเปิดใช้งานในอนาคต
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้มีการเปิดประกวดราคา และลงนามในสัญญาในโครงการจัดหารถ "รถจักรดีเซลไฟฟ้า" น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท กับกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยมีกำหนดระยะเวลาการส่งมอบรถจักรแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
โดยระยะที่ 1 จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คัน ภายในระยะเวลา 540 วัน นับจากวันลงนามฯ หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ระยะที่ 2 จำนวนที่เหลืออีก 30 คัน ส่งมอบภายใน 915 วัน นับจากวันลงนามฯ หรือ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
“การรถไฟฯ มั่นใจว่าโครงการจัดหา "รถจักรดีเซลไฟฟ้า" ดังกล่าว จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นรถจักรที่มีความทันสมัย มีสมรรถนะการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ซึ่งช่วยให้ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารมีความรวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ของการรถไฟฯ ตลอดจนเสริมศักยภาพการขนส่งทางรางให้กับประเทศไทยได้อย่างเป็นอย่างดี”
สำหรับจุดเด่นของ "รถจักรดีเซลไฟฟ้า" ดังกล่าว ได้ถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีสมรรถนะในการลากจูงขบวนรถโดยสารได้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลากจูงขบวนรถสินค้าที่ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ มีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection - ATP) รองรับกับมาตรฐาน ETCS level 1 : (European Train Control System: ETCS) รวมถึง มีเครื่องยนต์รถจักร ผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำตามมาตรฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้ติดตั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วงเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถอีกด้วย