พบผู้ป่วย “พยาธิปอดหนู” ขึ้นตารายล่าสุดที่ขอนแก่น โชคดีรักษาทัน
จักษุแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์ขอนแก่น เผยพบผู้ป่วย “พยาธิปอดหนู” ขึ้นตารายล่าสุดที่ขอนแก่น โชคดีรักษาทัน พร้อมเตือนอย่ากินหอย-กุ้งฝอยดิบ เสี่ยงพยาธิ
จากกรณีที่จักษุแพทย์ด้านจอตาและน้ำวุ้นตา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก พบผู้ป่วย "พยาธิปอดหนูขึ้นตา" เป็นสาเหตุทำให้ตาขวาบอด 1 ข้าง ผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก พร้อมระบุว่าเคยพบผู้ป่วย "พยาธิปอดหนู" ขึ้นตามากที่สุดในภาคอีสาน รายงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 18 ราย นั้น
ล่าสุด วันนี้ (4 ก.พ.65) ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แพทย์หญิงสุธาสินี สีนะวัฒน์ ,รศ.สุธาสินี สีนะวัฒน์ จักษุแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น กล่าวว่า ในภาคอีสานพบผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิขึ้นตา จากพยาธิหลายชนิด ทั้งพยาธิตัวจี๊ด พยาธิตัวตืด แต่ที่พบมากที่สุดคือ "พยาธิปอดหนู" หรือ พยาธิหอยโข่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นพยาธิชอนไช เฉลี่ยพบปีละ 2 ราย
โดยรายล่าสุดเข้ารับการรักษาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พบว่ามีรายงานจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่นมากที่สุดในโลก ส่วนสาเหตุที่พบในอีสานมากที่นั้น ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
"พยาธิปอดหนูนั้นส่วนใหญ่พบในเนื้อเยื่อที่เป็นระบบประสาท ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้ามารับการรักษาด้วยอาการเนื้อหุ้มสมองอักเสบมากกว่าตา ส่วนที่พบในตานั้น พยาธิจะชอนไชเข้ามาถือว่าเป็นจำนวนผู้ป่วยที่น้อย แต่ก็ไม่ลดลงเฉลี่ยพบมีผู้ป่วยปีละ 2 ราย
ส่วนความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดของพยาธิ ผู้ป่วยที่มารักษามีตั้งแต่อาการน้อย ไปจนถึงมารักษาเมื่อตาบอดแล้วก็มี ขนาดพยาธิที่พบว่าในตาของผู้ป่วย มีตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร ขนาดใหญ่สุด 2 เซนติเมตร
สำหรับผู้ป่วยที่มารับการรักษานั้น แม้ว่าจะรักษาหายแล้วแต่ก็ไม่สมบูรณ์ การมองเห็นก็ไม่เท่าเดิมทางป้องกันคือประชาชนจะต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุก จึงจะปลอดภัย" พญ.หญิงสุธาสินี กล่าว
ด้าน ศ.นพ.วีรจิตต์ โชติช่วง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า อาการของ "พยาธิปอดหนู" นั้นในรายที่ไชขึ้นสมองเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7-30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายมีอาการตาพร่ามัวเนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา
นอกจากนี้ ยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ส่วนความรุนแรงของโรคพยาธิปอดหนูจะมากน้อยขึ้นอยู่กับจํานวนพยาธิที่ได้รับเข้าไป และการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ
การรักษาปัจจุบันยังไม่มียาที่มีความจำเพาะในการรักษาโรคที่เกิดจากพยาธิปอดหนู ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแพทย์จะให้ยาแก้ปวดระงับอาการของโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะต้องรักษาด้วยยากลุ่มสเตียรอย เพื่อลดการอักเสบ ส่วนพยาธิจะอาศัยในร่างกายได้ 1-2 เดือนก็จะตายไปเอง