สายมูห้ามพลาด เช็ค 16 ข้อปฏิบัติ ก่อนเยือน “ถ้ำนาคา” จ.บึงกาฬ
เช็ค 16 ข้อปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขึ้น "ถ้ำนาคา" จ.บึงกาฬ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่สายมูห้ามพลาด กับความเชื่อเก่าแก่เรื่อง "พญานาค"
จากกรณี "ถ้ำนาคา" จ.บึงกาฬ ซึ่งก่อนหน้านี้ (5 ก.พ. 65) เกิดเหตุนักท่องเที่ยว แห่ขึ้นไปสักการะเป็นจำนวนมากจนทำให้กลับลงมาไม่ทันกำหนดเวลา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระดมเข้าช่วยเหลือโดยพานักท่องเที่ยวกรุ๊ปสุดท้ายลงมาได้ในเวลาประมาณ 01.00 น.
ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากลงมาช้ากว่ากำหนดจนเกิดความแออัดช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากการขึ้นไปชมถ้ำนาคาบนภูลังกา จึงได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งดำเนินการร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูลังกา และทาง จ.บึงกาฬ ช่วยกันระบายนักท่องเที่ยวให้ทยอยเดินทางลงจากข้างบน
พร้อมให้รายงานข้อเท็จจริงกลับมาเป็นไปตามข่าวที่เกิดขึ้นหรือไม่ แล้วมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 1,000 คนตกค้างอยู่จนถึงเวลา 21.00 น.จริงหรือไม่
ทั้งนี้ ตนเองจะลงพื้นที่ "ถ้ำนาคา" อีกครั้งเพื่อติดตามปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว หากพบมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข หรือกติกาของอุทยานแห่งชาติจะเร่งแก้ไข โดยเฉพาะหากบุคลากรมีไม่เพียงพอจะเพิ่มอัตรากำลัง หรือหากบุคลากรไม่มีประสิทธิภาพอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขณะที่จากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่พบว่าได้เร่งระบายนักท่องเที่ยวให้ลงจาก "ถ้ำนาคา" ทั้งหมดแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 21.00 น.ของวานนี้ สาเหตุเกิดจากบางกลุ่มเป็นผู้สูงอายุจะใช้เวลาเดินทางลงมาช้ากว่าที่อุทยานกำหนดไว้ และบางกลุ่มใช้เวลาไหว้พระขอพร หรือถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึกนานจนเกินไป จึงเกิดความแออัดเล็กน้อยในบางจุดหรือบางช่วงเวลา
โดยเฉพาะช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นมา เพราะทางขึ้น-ลง "ถ้ำนาคา" จะเป็นลักษณะทางเดินทางเดียว ซึ่งช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวจองเข้ามาผ่านแอปพลิเคชั่น QueQ มากกว่าวันธรรมดา และไม่ได้เปิดให้มีนักท่องเที่ยว Walk in แน่นอน เพราะมีมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เกินวันละ 500 คน
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติภูลังกามีเจ้าหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยว 60 คน ที่ประจำตามจุดสำคัญคอยดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ประจำจุดคัดกรอง และประจำจุดเสี่ยงอันตรายต่างๆ ส่วนการดูแลกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างๆจะมีมัคคุเทศก์อาสา หรือไกด์อาสา ที่ลงทะเบียนไว้กับอุทยานแห่งชาติ 200 คน พร้อมเข้าอบรมเรียบร้อยแล้ว
16 ข้อปฏิบัติในการเข้าชม "ถ้ำนาคา"
1. ห้ามสัมผัสหรือแตะต้องประติมากรรมในถ้ำ เช่น หินงอก หินย้อย เสาหิน ฯลฯ
2. ห้ามตี เคาะ ทำลายหินในถ้ำ
3. ห้ามสูบบุหรี่ ก่อกองไฟ จุดธูปเทียน หรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศภายในถ้ำ
4. ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในถ้ำรวมทั้งทิ้งเศษขยะมูลฝอยใดๆ
5. ห้ามทำเสียงดังหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวนหรือก่อความรำคาญให้แก่สัตว์ รวมทั้งห้ามยิงปืน จุดประทัด และวัตถุระเบิด
6. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปในถ้ำ
7. ห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทาหรือพ่นสี หรือปิดประกาศ
8. ห้ามถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในถ้ำ
9. ห้ามเก็บหรือนำสิ่งใดๆ ออกจากถ้ำ อาทิ หิน ผนึกแร่ ซากดึกดำบรรพ์ โบราณวัตถุ หรือสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ
10. ห้ามกระทำการใดๆ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่จะทำให้น้ำท่วมล้น หรือเหือดแห้ง เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
11. ห้ามตั้งแคมป์พักแรมภายในถ้ำ
12. ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด
13. ไม่แตะต้อง และ/หรือ ทำลายระบบไฟฟ้าในถ้ำ
14. ไม่รบกวนแหล่งโบราณคดี หรือซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำ
15. ไม่ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพาน ทางเดิน บันได เว้นแต่การก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวก/ปลอดภัยเท่าที่จำเป็น และให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติในถ้ำ
16. ให้มีผู้นำเที่ยวท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐาน Local Cave Guide และปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด