"ทะเบียนบ้านดิจิทัล" ให้บริการอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร เช็คที่นี่!
"ทะเบียนบ้านดิจิทัล" ใช้งานฟรีผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เปิดให้บริการอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร เช็คที่นี่
ภายหลังจาก กระทรวงมหาดไทย ประกาศให้ใช้ "ทะเบียนบ้าน" ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันมือถือ และใช้บริการฟรีในปีแรก ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล พ.ศ.2565 โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญในข้อปฏิบัติงานการ "ทะเบียนบ้าน" ด้วยระบบดิจิทัล ปี 2565 หรือ "ทะเบียนบ้านดิจิทัล" ให้สำนักงานทะเบียนกลาง จัดให้มีการบริการงานทะเบียนด้วยระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้ว สามารถขอรับบริการผ่านระบบดิจิทัลได้ด้วยตนเอง
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงมาแนะนำขั้นตอนเบื้องต้น ให้ผู้อ่านได้เตรียมตัวกันก่อนเข้าใช้งาน ดังนี้
ขั้นตอนการปฏิบัติสำหรับผู้ประสงค์ขอลงทะเบียน
- ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียน DOPA-Digital ID จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาลงใน โทรศัพท์มือถือของตนเองก่อนเข้ามาขอรับบริการลงทะเบียน ใช้ได้ทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และแอนด์ดรอย (Android)
- ผู้ประสงค์ลงทะเบียนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด พกติดตัวไปด้วยเพื่อให้ เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขั้นตอนขอ "ทะเบียนบ้านดิจิทัล"
- ผู้ประสงค์จะใช้บริการการทะเบียนราษฎรผ่านระบบดิจิทัล ต้องยื่นคำขอลงทะเบียน เพื่อพิสูจน์ตัวตนและกำหนดรหัสลับประจำตัว โดยให้ยื่นความประสงค์ด้วยตนเองต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
- ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้นายทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ในการพิสูจน์ตัวตนของผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนนายทะเบียนผู้รับลงทะเบียน ต้องตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลที่ปรากฏข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชน และข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร
"ทะเบียนบ้านดิจิทัล" เปิดให้บริการอะไรบ้าง?
ระยะแรก ในประกาศของราชกิจจานุเบกษา กำหนดว่าจะเปิดให้บริการ "ทะเบียนบ้าน" ผ่านมือถือ ดังนี้
- ใช้ตรวจข้อมูลส่วนบุคคลผ่านระบบฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
- การจองคิวรับบริการงานทะเบียนล่วงหน้า
- การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง
- ลำดับต่อไปจะขยายบริการงานทะเบียนราษฎรประเภทอื่นๆ ( เช่น งานทะเบียนราษฎร เช่น การตรวจคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร การแจ้งย้ายเข้า/ย้ายออก/ย้ายปลายทาง การแจ้งเกิด การแจ้งตาย )
- ยกเว้นค่าธรรมเนียมการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางเป็นระยะเวลา 1 ปี
ที่มา : กรมการปกครอง , ราชกิจจานุเบกษา
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์