กองทัพบกส่งอากาศยานไร้คนขับ Hermes 450 UAV ดับไฟป่าภาคเหนือ
กองทัพบก ส่งอากาศยานไร้คนขับ UAV รุ่น Hermes 450 ขึ้นเหนือปฏิบัติภารกิจ ลาดตระเวนไฟป่า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูหมอกควันและไฟป่า พิสัยบินได้ไกลถึง 250 กม. และบินได้นาน 18 ชั่วโมง รองผบ.ไฟป่า เผยทำให้เจ้าหน้าที่เข้าดับไฟป่าได้แม่นยำมากขึ้น
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะตรวจเยี่ยม ทีม UAV : อากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการบินลาดตะเวนตรวจจุดความร้อนในห้วงที่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังที่กองทัพบกได้ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ห้วงวันที่ 14 ก.พ. -15 มี.ค.2565 เพื่อเตรียมการติดตั้งระบบควบคุมภาคพื้นระหว่างทางขับและทางวิ่ง รวมถึงติดตั้ง arresting cable (อุปกรณ์ใช้ร่วมกับระบบขึ้น -ลงอัตโนมัติ) บริเวณขอบทางวิ่ง เมื่อได้รับอนุญาตจากท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่
โดยอากาศยานไร้คนขับ UAV รุ่น Hermes 450 สามารถปฏิบัติการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีเพดานบินสูงสุด 18,000 feet บินได้นาน 18 ชั่วโมง พิสัยปฏิบัติการ 250 กิโลเมตร น้ำหนักระบบ 345 กิโลกรัม สามารถวิ่งขึ้นด้วยน้ำหนักบรรทุกสูงสุดได้ 490 กิโลกรัม
พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี กล่าวว่า สำหรับอากาศยานไร้คนขับ UAV ทางกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก เพื่อปฏิบัติการ ISR (Intelligence Surveillance and Reconnaissance) โดยการใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ใช้ระบบตรวจจับ หรือ Sensor จากอากาศยานไร้คนขับ และข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อการหาจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นแหล่งกำเนิดของไฟ
โดยทำการบูรณาการสัญญาณภาพจากระบบตรวจจับทุกส่วน รวบรวมส่งมายังส่วนบัญชาการและควบคุมในลักษณะ Near Real Time เพื่อให้ผู้บัญชาการสถานการณ์ และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ทราบถึงพิกัดและเข้าควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ
รวมทั้งจัดทำเป้าหมายที่ตรวจพบให้กับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า และศูนย์บัญชาการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อวางแผนจัดชุดดับไฟป่า ชุดลาดตระเวน เข้าไปยังพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การดับไฟป่าแต่ละครั้งตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) สามารถตรวจจับจุดความร้อนที่เป็นลักษณะไฟที่มอด แต่ยังมีเชื้อไฟที่มีขนาดเล็กได้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการดับไฟป่าได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (ดาวเทียมระบบ VIIRS) ห้วงวันที่ 16 ก.พ.2565 พบเกิดจุดความร้อนสะสมจำนวน 194 จุด น้อยกว่าวันเดียวกันของปี 64 จำนวน 735 จุด ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 – 16 ก.พ.2565 เกิดจุดความร้อนสะสม 12,067 จุด เมื่อเทียบปี 2564 ( 20,937 ) ลดลง 8,870 จุด คิดเป็น 42.37 % เมื่อเทียบปี 2563 ( 47,213 ) ลดลง 35,146 จุด คิดเป็น 74.44 % ซึ่งจุดความร้อนวันนี้พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,เชียงใหม่ น่าน และจังหวัดลำปาง
โดยพบพื้นที่อนุรักษ์ 96 จุด พื้นที่ป่าสงวน 82 จุด เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อวาน พื้นที่เผาไหม้ลดลง ค่าฝุ่นละอองลดลง สภาพอากาศโดยรวมดีขึ้น
จากข้อมูลขั้นต้นพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 – 16 ก.พ.2565 พบว่าจังหวัดที่มีจุดความร้อนสะสมสูงกว่าปี 64 ในห้วงเวลาเดียวกัน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ,เชียงราย,ตาก,นครสวรรค์,น่านและจังหวัดลำปาง