เลิกรอสายนาน! เช็ค 3 ช่องทางติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบ “Home Isolation”
แม้โควิด-19 ระลอกนี้อาจไม่หนักมากเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดก่อนหน้านี้ แต่หากดูจำนวนผู้ติดเชื้อเรียกว่าผ่านไปยังไม่ถึง 2 เดือน พบผู้ติดเชื้อแล้ว 5 แสนกว่าราย ดังนั้น เมื่อมีผู้ป่วยอาการหนักไม่มาก แต่ติดเชื้อจำนวนมาก การดูแลรักษาส่วนใหญ่จะเป็นระบบ HI
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อทำ New High กว่า 18,000 ราย/วัน ยังไม่รวมที่ตรวจ ATK อีกเกือบ 10,000 ราย/วัน
อย่างไรก็ดี ผู้ติดเชื้อส่วนมากไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งสามารถ“เข้ารับการรักษาที่บ้าน” (Home Isolation) ด้วยการติดต่อผ่าน 1330 หรือผ่านไลน์หรือสแกน QR code หรือลงทะเบียน
โดยแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขคือ ประชาชนที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดหรือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 นั้น จะ“เข้าระบบการรักษาที่บ้าน”ทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปตรวจ RT-PCR ซ้ำอีก
- สปสช.ย้ำรักษาโควิด-19 ยังไม่เสียค่าใช้จ่าย
วันนี้ (22 ก.พ.2565 )นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ยังเป็นไปตามสิทธิสุขภาพ ผู้ป่วยหรือญาติไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วน อนาคตหากมีการปรับระบบบริการฉุกเฉิน ซึ่งจะมีผลให้ผู้ป่วยต้องกลับไปยังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนหรือไม่นั้น โควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่อที่สามารถไปรับบริการในสถานพยาบาลได้ทุกที่
“ไม่ใช่เพียงแค่โควิด-19 แต่ในโรคอื่นๆ หากประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่ก็สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ตามนโยบายการยกระดับบัตรทอง ส่วนการดูแล ไม่ว่าจะเป็นการรักษาที่บ้านหรือชุมชน (Home and Community Isolation) การดูในโรงพยาบาล (รพ.) โรงแรม ระบบจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้”นพ.จเด็จ กล่าว
- 3 ช่องทาง ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบHI
ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยต้องการติดต่อกับสายด่วน 1330 นั้น ข้อมูลวันที่ 21 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา มีโทรศัพท์เข้ามาสูงเป็นประวัติการณ์ 49,500 สาย ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเคยสูงในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 2-3 หมื่นสาย ทำให้ขณะนี้มีปัญหาในเรื่องการโทรเข้ามาจำนวนมาก
ดังนั้น ช่องทางสำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และต้องการเข้ารับการรักษาตัวในระบบ Home Isolation จะมี 3 ช่องทางหลักๆ คือ
1.โทรศัพท์เข้าสายด่วน 1330 กด 14
2.ไลน์ออฟฟิเชียล สปสช. @nhso
3.คลิกลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการโทรเข้าสายด่วน 1330 กด 14 นั้น สามารถโทรเข้ามาขอรับการประสานงานเพื่อจัดหาหน่วยบริการมาดูแลแบบ Home Isolation ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ส่วนช่องทางที่ 2ไลน์ออฟฟิเชียล @nhsoคลิกในกรณีที่โทร 1330 ไม่ติด ก็สามารถ Add friend หรือพิมพ์เพิ่มเพื่อน @nhso ซึ่งในนั้นสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อรับการดูแลแบบ Home Isolation ได้เช่นกัน
หรือหากทำไม่เป็นก็สามารถพิมพ์สอบถามแอดมินได้ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. หรือการส่งข้อความ inbox เข้ามาที่เฟสบุ๊กสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้
สำหรับช่องทางที่ 3.ลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. หรือคลิก เมื่อสแกนแล้วจะมีแบบฟอร์มให้กรอกชื่อ เบอร์โทร ที่อยู่ปัจจุบัน โรคประจำตัว น้ำหนัก ส่วนสูง เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว 15-20 นาที ก็สามารถตรวจสอบได้เลยว่าจะมีหน่วยบริการไหนมารับดูแลทำ Home Isolation ให้
จากนั้นสแกนอีกครั้งเพื่อยืนยันตัวตนและรอการติดต่อจากหน่วยบริการเพื่อรับยา อุปกรณ์ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด อาหาร และการดูแลจากแพทย์ผ่านระบบ tele health
- สปสช.เสริมสายด่วน 1330 ช่วยผู้ติดเชื้อรักษาที่บ้าน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อโทรเข้ามาที่สายด่วน 1330 เพื่อประสานเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation หรือขอความช่วยเหลืออื่นๆ รวมประมาณวันละ 20,000 สาย
ล่าสุดวานนี้ (21 ก.พ.65) มีคนโทรเข้าสูงสุด 49,005 สาย ทำให้เกิดปัญหาโทรติดแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่รับสายหรือ Abandon Call (มีผู้โทรเข้า 1330 จำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน)
สปสช.ได้แก้ปัญหาในหลายๆ รูปแบบ เช่น การเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ Call Center เพิ่มอีก 70 ที่นั่ง การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ติดเชื้อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation ด้วยตัวเองทางเว็บไซต์ สปสช. https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือผ่านไลน์ออฟฟิเชียล @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดูแลผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ทุกคนได้รับการดูแลโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สปสช.จึงขอเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ที่มีบริการ Call Center เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของ 1330 ในการรับสายจากประชาชน และประสานเข้าสู่ระบบการดูแลแบบ Home Isolation อีกทางหนึ่ง
รวมถึงรับสมัครจิตอาสาช่วยตอบคำถามผ่านไลน์ สปสช. โดย สปสช.จะทำการอบรมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานและจิตอาสาที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้ทราบถึงแนวปฏิบัติและช่องทางการส่งต่อข้อมูลและการประสานหน่วยบริการต่างๆ
“จุดเด่นของคนไทยอย่างหนึ่งคือ เมื่อใดที่เกิดวิกฤติอะไรก็ตาม คนไทยเรารวมพลังช่วยเหลือกันและกันอยู่เสมอ ที่ผ่านมาเราสามารถฝ่าวิกฤติการระบาดของโควิด-19 มาได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชนและจิตอาสากลุ่มต่างๆ และ ตอนนี้เป็นอีกครั้งที่เราอยากขอรับการสนับสนุน Call Center จากท่าน หากว่าหน่วยงานใดที่มี capacity เพียงพอ และประสงค์จะช่วยเหลือประชาชน ขอเชิญชวนท่านติดต่อเข้ามาที่ สปสช.ได้ทันที” ทพ.อรรถพร กล่าว
- ผนึกหน่วยบริการ พร้อมดูแลผู้ป่วยHI
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าสปสช.มีเครือข่ายหน่วยบริการที่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation อีกทั้งอยู่ระหว่างการจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติมเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามปกติ หรือหากผู้ป่วยที่รับการดูแลในระบบ Home Isolation รู้สึกว่าอาการรุนแรงมากขึ้น ก็สามารถโทรประสานหน่วยบริการที่ให้การดูแลเพื่อประสานส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโทรเข้ามาที่ 1330 ก็ได้
“Home Isolation” คือ การดูแลที่บ้าน ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้ที่บ้าน เราจะมีหน่วยบริการคอยติดตามอาการและจัดส่งยาหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นให้ ดังนั้น ถ้าอยู่บ้านได้ก็อยากแนะนำให้รักษาตัวที่บ้านก่อนเพราะมีความสะดวกและสบายใจ
“อยากแนะนำให้ลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ตามลิงก์ที่ระบุข้างต้นก่อน หรือหากหา QR code ไม่เจอ ก็เข้าไป @nhso เพื่อกรอกข้อมูล ถ้าทำไม่เป็นพิมพ์ถามแอดมินในไลน์ก็ได้ เพราะจะได้ไม่ต้องเจอปัญหาโทรไม่ติด นอกจากนั้น ประชาชนยังสามารถโทรติดต่อไปที่หน่วยบริการประจำตัวของตัวเองได้โดยตรง เพราะเมื่อ สปสช.ได้รับแจ้งจากผู้ติดเชื้อ ก็จะส่งข้อมูลให้หน่วยบริการเหล่านี้เข้ามาดูแลเรื่องการทำ Home Isolation ให้อยู่แล้ว”รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- ประเมินติดโควิดในหมอพร้อม Chatbot
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการ การให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขจึงพัฒนาฟังก์ชันการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Self-assessment) บนระบบ “หมอพร้อม Chatbot” เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยคัดกรองผู้ที่มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นบวก ให้ได้รับคำแนะนำในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้
โดยการประเมินดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองภาวะวิกฤติ
2.การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองความเร่งด่วน
เมื่อผู้ติดเชื้อทำแบบประเมินความเสี่ยง บน “หมอพร้อม Chatbot” ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพพื้นฐานของผู้ติดเชื้อ อาการและความพร้อมในการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษาทางวิชาการของกรมการแพทย์ โดยสามารถประเมินให้ตนเองหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อได้ โดยเครื่องมือการประเมินมีค่าความแม่นยำร้อยละ 85
“ผลจากการประเมินเป็นการให้คำแนะนำในเบื้องต้น ไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์ หากประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรงขอให้เข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน และหากมีอาการนอกเหนือจากที่แบบประเมินกำหนด หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ สำหรับช่องทางการประเมินความเสี่ยงบนหมอพร้อม Chatbot สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ ทั้ง LINE Official Account , แอปพลิเคชัน และช่องทางแชทบน Facebook Page ของหมอพร้อม” นพ.โสภณ กล่าว
- Chatbot ช่วยประเมินอาการโควิด ดูแลรักษาที่บ้าน
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามระบบการรักษา หากติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวคือ ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย จะเน้นการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชนเป็นลำดับแรก (HI/CI First) ซึ่งจะได้รับการติดตามอาการทุกวันจากบุคลากรทางการแพทย์ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะได้รับการส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามระบบ
ทั้งนี้ แบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อผ่านระบบหมอพร้อม Chatbot จะเป็นอีกช่องทางและเครื่องมือในการช่วยประเมินอาการตนเองเพื่อรับคำแนะนำการเข้ารับการดูแลรักษาเบื้องต้น โดยหมอพร้อม Chatbot จะมีเมนู “ติดโควิด คลิกที่นี่” จากนั้นระบบจะถามคำถามเพื่อประเมินและคัดกรองภาวะวิกฤติ ได้แก่ 1.มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจไม่ทัน หายใจเหนื่อยจนซี่โครงบาน หายใจเร็วกว่า 20 ครั้งต่อนาที หายใจมีเสียงดัง 2.อาการซึมลง ไม่รู้สึกตัว 3.อาการตัวซีด เย็น และ 4.อาการเหงื่อท่วมตัว หากมีอาการจะแนะนำว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินให้ติดต่อ 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
หากไม่มีอาการดังกล่าวจะแนะนำให้ทำแบบประเมินคัดกรองความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งจะมีการสอบถามช่วงอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว สอบถามอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ ไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หายใจลำบาก/ไม่อิ่ม จมูกไม่ได้กลิ่น ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน
รวมถึงสอบถามว่าเป็นกลุ่มเปราะบางหรือไม่ เช่น ตั้งครรภ์ มีภาวะติดเตียง ประวัติโรคจิตเวช ซึ่งต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด มีความพิการและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จากนั้นระบบจะนำคำตอบทั้งหมดมาประเมินและให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากแนะนำการดูแลที่บ้าน จะระบุช่องทางติดต่อ 1330 รวมถึงให้คู่มือแนวทางการกักตัวที่บ้าน เป็นต้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์