เจาะเส้นทางการเงิน-วิวัฒนาการตุ๋นเหยื่อ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
เปิดกลวิธีหลอกลวงเหยื่อ และการขยายตัวเป็นแฟรนไชส์ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โดยเฉพาะเส้นทางการเงินที่พุ่งตรงไปที่ประเทศ "เพื่อนบ้าน"
จากรายงานการสืบสวนสอบสวนของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT ในการตรวจสอบกระบวนการ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่กำลังระบาดอย่างหนักในขณะนี้ ยังเป็นปัญหาที่สังคมกำลังตื่นตัวกับภัยใกล้ตัว ที่มีเหยื่อได้รับความเสียหายจำนวนไม่น้อย
โดยข้อมูลสำคัญพบว่า ผู้ที่เข้าไปอยู่ในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาจากหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และประเทศแถบอเมริกาใต้โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อต้มตุ๋นคนไทยอย่างเดียว
"พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ" ผบก.สส.สตม. หัวหน้าชุดเทคนิค และสืบสวนที่ 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาให้ความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนเบาะแส "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ทำให้ตำรวจไทยสามารถตรวจสอบไปจนถึงต้นตอเส้นทางการเงินที่ได้รับการโอนมาจากประเทศไทยได้ รวมถึงเตรียมออกหมายจับผู้ร่วมกระบวนการทั้งหมดได้เกือบร้อยหมาย
เจาะเส้นทางการเงิน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"
ขั้นแรกของขบวนการหลอกลวงเหยื่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือการเปิด “บัญชีม้า” หมายถึง 1.นำบัญชีที่มีคนเปิดทิ้งไว้แต่ไม่ได้ใช้งาน หรือไม่มีการเคลื่อนไหว 2.การรับจ้างเปิดบัญชีใหม่มาใช้งาน ซึ่งบัญชีทั้ง 2 แบบ ผู้ที่นำบัญชีมาให้ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ใช้ จะได้รับเงินเป็นค่าจ้างเปิดบัญชีด้วย เพื่อเป็นบัญชีต้นทางให้เหยื่อโอนเงินเข้ามาเป็นลำดับแรก ก่อนจะโอนเงินไปยังบัญชีม้า 2 , 3 และ 4 ก่อนโอนเข้าบัญชีปลายทาง ซึ่งอาจจะถอนเงินออกมาเป็นเงินสดหรือเป็นเงินดิจิทัลก็ได้
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" บางขบวนการมีบัญชีม้ามากถึง 6 บัญชีด้วยกัน โดยบัญชีม้าแต่ละบัญชีจะมี “ผู้รวบรวม” หรือ “ผู้จัดหา” อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนจากการรวบรวมบัญชีเช่นเดียวกัน
พล.ต.ต.พันธนะ ระบุว่า ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า จุดศูนย์กลางที่เงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่รวบรวมได้ จะไปกระจุกตัวอยู่ที่ "เมืองพนมเปญ" และ "เมืองสีหนุวิลล์" เมืองท่องเที่ยวที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ของประเทศกัมพูชา ที่รวบรวมความบันเทิงไว้เต็มรูปแบบ อาทิ คาสิโน ผับ บาร์ โดยมีประเทศจีนเป็นประเทศหลักที่เข้ามาลงทุน
ขบวนการ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" จะรวมเงินจากการหลอกลวงผู้เสียหายมารวมอยู่เป็นจุดย่อยๆ ก่อนจะโอนเงินบางส่วนไปยัง "เมืองสีหนุวิลล์" ในขั้นตอนสุดท้าย
วิวัฒนาการตุ๋นเหยือ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"
สำหรับกลวิธีการทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์พบว่า จะมีการทำเป็นแฟรนไชส์ โดยแต่ละแฟรนไชส์จะมีการสร้างเรื่องราวการหลอกลวงเฉพาะกลุ่มของตัวเองขึ้นมา อาทิ การโทรหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ DHL (บริษัทขนส่งพัสดุรายใหญ่) หรือเป็นพนักงานไปรษณีย์ โดยจะหลอกเหยื่อว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งการทวงหนี้ หรือหลอกลงทุน เป็นต้น
หากเหยื่อคนใดหลงเชื่อ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" จะขอข้อมูลส่วนตัวเพื่ออ้างว่าจะให้เจ้าหน้าที่พัสดุติดต่อกลับไป อาทิ เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร จากนั้นเมื่อวางสายแล้ว "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" จะใช้โทรศัพท์อีกเบอร์ นำข้อมูลที่ได้มาใช้ข่มขู่เหยื่อเพื่อกดดันให้โอนเงินไปที่บัญชีม้าบัญชีแรก ซึ่งในแต่ละแฟรนไชส์จะมีการสร้างเรื่องราวเพื่อหลอกเหยื่อแตกต่างกัน
แต่ถ้าหากแฟรนไชส์อื่นต้องการนำวิธีหลอกเหยื่อในลักษณะเดียวกันไปใช้ จะต้องมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับแฟรนไชส์ที่เป็นเจ้าของเรื่องด้วย โดยแฟรนไชส์แต่ละเรื่องจะกุเรื่องขึ้นมา โดยใช้วิธีการพูดสร้างประเด็นให้กระทบกับจิตใจเหยื่อให้เกิดความกังวลใจว่า ตัวเองอาจมีปัญหาตามได้ ทำให้ในจุดนี้เหยื่อจะรีบโอนเงินให้กับ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" โดยไม่ทันระวังตัวจนมารู้ภายหลังว่าถูกหลอกในที่สุด
มาที่อีกหนึ่งวิธีนิยมของ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทย จะใช้วิธี "ทวงหนี้" โดยการใช้แอพลิเคชั่น เพื่อให้เหยื่อกดยินยอม "เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว" ในเครื่อง ซึ่งเป็นวิธีต่างกับการโทรหลอกลวง เพราะวิธีนี้จะทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์สามารถโทรไปทวงหนี้กับบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในรายชื่อเบอร์โทรศัพท์ของเหยื่อต่อได้
จากการตรวจสอบขณะนี้ยังพบอีกว่า การโทรหลอกลวงจากเดิมในอดีต ที่มีจำนวนคนที่ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากแต่ได้เงินน้อย แต่เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน มีจำนวนเหยื่อน้อยแต่กลับได้จำนวนเงินมากขึ้น "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" จึงเน้นการหลอกเหยื่อให้ลงทุนการเงินดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายขณะนี้
หากตกเป็นเหยื่อต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้ที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง และได้ทำการโอนเงินไปแล้ว "พล.ต.ต.พันธนะ" แนะนำว่าให้รีบโทรไปที่ธนาคารที่มีบัญชีของตนเองเพื่อทำการ "อายัดบัญชี" แต่หากอายัดไม่ทันให้รีบไปแจ้งความในสถานีตำรวจที่เกิดเหตุ และติดต่อศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้หลายฝ่ายประสานความร่วมมือกันในการเร่งติดตามเงินคืนให้เร็วที่สุด
"ที่ผ่านมายังมีบางกรณีที่สามารถติดตามเงินคืนกลับมาได้ แต่ต้องยอมรับว่า มีบางกรณีที่ไม่สามารถติดตามเงินกลับคืนมาได้ เนื่องจากเงินจำนวนนั้นถูกโอนออกไปนอกประเทศแล้ว"พล.ต.ต.พันธนะ ระบุ
สำหรับการเตรียมแผนฏิบัติการของไทยที่จะมีการดำเนินต่อไป พล.ต.ต.พันธนะ ระบุว่า ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ประชุมร่วมกับ ธนาคารผู้ให้บริการต่างๆ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อเซ็นต์ข้อตกลง(เอ็มโอยู) ในเรื่องการส่งหลักฐานระหว่างประเทศ
"เนื่องจากบางเรื่องเกินอำนาจของรัฐบาลไทย ทำให้ไม่สามารถเจรจาได้ จึงจำเป็นต้องมีตัวแทนไปขอความร่วมมือจากประเทศจีน ให้ช่วยตรวจสอบชาวจีนในกัมพูชา เพื่อระบุตัวให้ได้ว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่"พล.ต.ต.พันธนะ ระบุ