"รมช.กลาโหม " มอบรางวัล "คนดีศรีแพทย์ทหาร"
"รมช.กลาโหม " ประชุมวิชาการ และประชุมใหญ่สามัญ สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทยฯ พร้อมมอบรางวัลคนดีศรีแพทย์ทหาร ครั้งที่ 6
25 ก.พ.2565 ที่ห้องประชุมห้องประชุมพลเรือตรี เล็ก สุมิตร ชั้น 5 อาคารพิเคราะห์และบำบัดโรค โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ และประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 64 สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบรางวัลนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของแพทย์ทหารเพื่อกองทัพและประชาชน และมอบรางวัลคนดีศรีแพทย์ทหาร ครั้งที่ 6 ในสาขาวิชาการและวิจัย การบริหารจัดการสาขาแพทย์ทหาร และบริการสังคมพร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรให้กับสมาชิกใหม่ กับผู้แทนสี่เหล่าทัพ โดยมี พล.ท.สุพัษชัย เมฆะสุวรรณดิษฐ์ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พล.ร.ท.ชลธร สุวรรณกิตติ เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ นายกสมาคมท่านใหม่ให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล ร่วมกับผู้บริหารจากสี่เหล่าทัพ โดยมีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่
1. ระบบแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อน ของ รพ.ค่ายวชิรปราการ เพื่อการฝึกทหารใหม่ให้ปลอดภัยจากการบาดเจ็บจากความร้อน HATACS (Humidity And Temperature Alert Control System)
เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ สามารถทราบข้อมูลที่น่าเชื่อถือ สามารถใช้ตัดสินใจ ออกแบบ กำหนดกิจกรรมการฝึก ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ช่วยให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้รับการฝึก โดยปรับปรุงจากแนวทางการป้องกันที่กรมแพทย์ทหารบกกำหนดให้ใช้ธงสีที่แสดงถึงสภาพอากาศ ณ ขณะนั้น
https://www.armyhealthinfo.com/main/page/431/th/
2. เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยโรคลมร้อน ทบ. ของ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (Smart Temperature Meter for Heat stroke) เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองทหารที่เริ่มมีอาการการบาดเจ็บจากความร้อน อันจะนำไปสู่การปฐมพยาบาลที่ทันท่วงที
ส่วนนวัตกรรมอื่นๆ ได้แก่ NAH Smart Health เพื่อพัฒนาระบบตรวจร่างกายประจำปีกำลังพล, ระบบตรวจคัดกรองโควิด 19 และติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง FPCDH COVID-19 System, "Rx Mobile" นวัตกรรมกล่องยาออกหน่วยแพทย์ เคลื่อนที่บริการประชาชน, หูฟังช่วยวินิจฉัยโรคชนิดไร้สาย, เครื่องเขย่ายาต้นแบบตามแนวดิ่ง "น้องเนื้อนวล" ของวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ, ที่นอนลดความร้อน ป้องกันและลดอันตรายจากโรคลมร้อน
สำหรับรางวัลคนดีศรีแพทย์ทหาร ครั้งที่ 6 ปี 2564 ประกอบด้วย
สาขาวิชาการและวิจัย ได้แก่
1. พลโท สุจินต์ อุบลวัตร แพทย์ อายุ 84 ปี "เป็นหมอ med ต้องนิยมการ round“ อายุรแพทย์ต้นแบบของครูแพทย์ที่โรงพยาบาลตามตัวมาดูคนไข้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ผลักดันให้จัดหาไตเทียมมาช่วยชีวิตผู้ป่วยทหารชายแดนที่ไตวายเฉียบพลันจากไข้มาลาเรีย และยืดชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนไต"
2. พลเอก ถนอม สุภาพร แพทย์ อายุ 65 ปี "นักเรียนนายร้อย ทุนกองทัพบก เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง รามาธิบดี อายุรแพทย์โรคไต ผู้ใส่ใจสุขภาพกำลังพลทหาร โดยเฉพาะการป้องกันทหารใหม่ไม่ให้บาดเจ็บจากความร้อนจากการฝึก โดยประยุกต์การวัดความร้อนด้วยการใช้ธงสี มีผลงานวิจัยโรคที่มีความสำคัญทางทหาร รวมทั้งเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ผู้ป่วยบัตรทองโรคไตวายเรื้อรัง ได้รับสิทธิในการรักษาด้วยการฟอกเลือด และการผ่าตัดเปลี่ยนไต"
สาขาบริหารจัดการ ได้แก่
1. พันเอกหญิง มยุรี พลางกูร แพทย์ / วายชนม์ "กุมารแพทย์จากอังกฤษ นักบริหารการศึกษาท่านแรกของกองทัพบกผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ทหาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของกองทัพโดยเฉพาะตามหน่วยทหารในท้องถิ่นกันดารห่างไกลความเจริญ และเป็นผู้ริเริ่มนำหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษามาประยุกต์ใช้ตามมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนแพทย์สากล"
2. นาวาเอกหญิง บุญสม โปษยะจินดา พยาบาล อายุ 91 ปี "ครูต้นแบบผู้ยกระดับวิชาชีพพยาบาลกองทัพเรือ คนดีศรีพยาบาลสี่เหล่า พยาบาลดีเด่นของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ผู้วางรากฐานการพัฒนาและยกระดับนักเรียนพยาบาลทหารเรือให้สำเร็จการศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพและเป็นนายทหารสัญญาบัตร"
สาขาการแพทย์ทหาร และบริการสังคม ได้แก่
1. พล.ร.อ. ดิเรก ภักดี แพทย์ / วายชนม์
"แพทย์ทหารเรือไทยหัวใจนักรบ จิตแพทย์และมนุษย์กบหน่วยซีลหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ผู้มีผลงานราชการสนามมากกว่าในที่ตั้งปกติ เสียสละ ทุ่มเท เป็นแบบอย่างของทหารแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ริเริ่มเรื่องจิตเวชทหารในกองทัพ สุขภาพจิตของกำลังพล ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด"
2. พล.อ.ต.บุญเลิศ จุลเกียรติ แพทย์ อายุ 74 ปี "แพทย์ฉุกเฉินคนแรกของไทย ผู้ชี้นำแก้ปัญหาชีวิตให้คนไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ผู้นำการฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินขึ้นในประเทศ ด้วยหวังว่าผู้ป่วยผู้บาดเจ็บหนัก จะต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านฉุกเฉินอย่างทันท่วงที "